29 กันยายน ชวนคนไทยฟิตหัวใจใน "วันหัวใจโลก" ลดโรค-ลดเสียชีวิต
29 กันยายน "วันหัวใจโลก" โรคหัวใจที่ทำคนไทยตายเพิ่ม ชวนดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วย 7 วิธีลดเสี่ยงลดเสียชีวิตจากภาวะหัวใจผิดปกติ
วันที่ 29 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันหัวใจโลก" ซึ่งเป็นการกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ โดยวันหัวใจโลกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากลที่ช่วยเตือนให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ และเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 17.5 ล้านคนต่อปี องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1
ดังนั้น วันหัวใจโลก (World Heart Day) เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ เนื่องจากสถานการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตในอับดับต้นๆ ของคนไทยและคนทั่วโลก โดยเฉพาะในคนไทยที่มีมักจะเกิดขึ้นจากวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งการรับประทานที่มากเกินพอดี มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ได้ออกกำลังกาย ประกอบกับการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังละเลยการตรวจสุขภาพ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และส่งผลให้คนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้น ดังนั้นเนื่องในวันหัวใจโรคเราจึงชวนทุกคน “เรามาฟิตหัวใจกันเถอะ”
1. คิดสักนิดก่อนรับประทาน เพราะโภชนาการมีส่วนสำคัญทั้งด้านบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพ ลดเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และไขมันชนิดอิ่มตัวสูง งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพิ่มอาหารที่มีกากใยเป็นประจำ เช่น ข้าวกล้อง ผลไม้บางชนิด
2. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่อ้วนและไม่ผอมจนเกินไป
3. การออกกำลังกายเพื่อเผาพลาญพลังงานส่วนเกิน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความฟิต ให้กับร่างกาย โดยไม่หักโหมจนเกินไป เพื่อบริหารกล้ามเนื้อหัวใจให้มีการสูบฉีดสม่ำเสมอ
4. ฝึกมองโลกในแง่ดี ไม่เครียด เพราะคนเราเมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน และนอร์อะดรีนาลิน ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดหดตัว หัวใจต้องทำงานหนัก ในการส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้ได้ เมื่อเกิดความเครียดต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับมันอย่างถูกวิธี เป็นการคิดบวกเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต
5. ฝึกเป็นผู้ให้ โดยการหากิจกรรมจิตอาสา ที่ทำแล้วมีความสุขไม่เดือดร้อนผู้อื่น
6. ฝึกระงับอารมณ์ ด้วยการไปไหว้พระทำบุญ นั่งสมาธิ หรือระงับความโกรธ
7.อย่าละเลยที่จะตรวจเช็คสุขภาพ อย่างน้อยควรได้รับการตรวจเช็คว่าระดับไขมันโคเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอรอลในเลือดสูงเกินไปหรือไม่ เป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ และอัมพาตได้ หากพบว่ามีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของหัวใจเกิดขึ้น เช่น หายใจไม่สะดวก เจ็บร้าวไปที่คอ กราม ลิ้นปี่ เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ที่มา: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็ก 7 อาการอันตรายของ "โรคหลอดเลือดหัวใจ"
- ระหว่าง "กักตัว" 7 วัน รัฐอนุญาตให้ว่ายน้ำ-ออกกำลังกายกลางแจ้งได้
- ด่วน ครม. เห็นชอบตาม ศบค. เคาะ 10 กิจกรรม "คลายล็อก" ลดเวลา"เคอร์ฟิว" 4 ทุ่ม-ตี 4
- เริ่ม 1 ต.ค.นี้ ศบค. เคาะ "ผ่อนคลายมาตรการ" 10 กิจกรรม อะไรบ้าง เช็คเลยที่นี่
กรมควบคุมโรค ชี้ "ผู้ป่วยโรคหัวใจ" ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด "mRNA"