เด่นโซเชียล

บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช. พิจารณาคุ้มครองสิทธิ "ผู้ป่วยบัตรทอง"

บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช. พิจารณาคุ้มครองสิทธิ "ผู้ป่วยบัตรทอง"

29 ก.ย. 2564

บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช. พิจารณาคุ้มครองสิทธิ "ผู้ป่วยบัตรทอง" พร้อมจับมืออนุกรรมการกำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานบริการเพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา เป็นประธานเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting)  ที่ประชุมมีวาระพิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ผลวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเรื่องความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน พร้อมรับทราบแผนกิจกรรมและข้อเสนอการดำเนินงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขและการคุ้มครองสิทธิในระดับเขตพื้นที่ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2563-2567) นำเสนอโดยคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับพื้นที่ (อคม.) เขตนครสวรรค์

 นพ.สุพรรณ กล่าวว่า บทบาทสำคัญของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ นอกจากการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ การกำกับดูแลการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองที่ดี มีมาตรฐานบริการทางการแพทย์แล้ว อีกหน้าที่ที่สำคัญคือการพิจารณาผลการสอบสวนหน่วยบริการของคณะกรรมการสอบสวน กรณีที่มีการตรวจพบหรือมีข้อร้องเรียนหน่วยบริการใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนดหรือหน่วยบริการเรียกเก็บเงินผู้รับบริการ และการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีที่ผู้รับบริการยื่นคำร้องอุทธรณ์ผลการวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 

          

นอกจากนี้ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ได้มีการกำกับติดตามคุณภาพและมาตรฐานเชิงรุก ในระดับพื้นที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับพื้นที่ (อคม.) โดย อคม.แต่ละเขต จะได้นำเสนอจุดเน้น แผนกิจกรรมและข้อเสนอการดำเนินงานควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขและการคุ้มครองสิทธิในระดับเขตพื้นที่ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2563-2567) เดือนละ 1 เขต ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการนำเสนอของ อคม.เขต 3 นครสวรรค์ ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอไปแล้ว 3 เขต คือ เขต 9 นครราชสีมา เขต 6 ระยอง และเขต 10 อุบลราชธานี โดยมีอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ เขต 1-13 มากกว่า 200 ท่าน เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) เพื่อร่วมให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การกำกับคุณภาพและมาตรฐานในระดับเขตพื้นที่ 

 

 นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ และ อคม. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและได้ให้ข้อเสนอเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขในระดับเขตพื้นที่ ทำให้สามารถป้องกันและลดปัญหาซ้ำด้านคุณภาพบริการ เช่น ปัญหาด้านสูติกรรมมารดาและทารก การติดเชื้อวัณโรคของผู้ให้บริการ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานฯ ต่อไป

 

ที่มา สปสช.

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง