จุติ รับข้อเสนอ "เบี้ยผู้สูงอายุ" เป็นระบบบำนาญประชาชน
ภาคประชาชน ยื่นข้อเสนอการพัฒนา เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นระบบบำนาญประชาชน จุติชี้ยินดีรับฟังทุกข้อเสนอ ยันเบี้ยคนแก่ยังได้รับสิทธิเหมือนเดิม
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับหนังสือข้อเสนอเรื่องการพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นระบบบำนาญประชาชน จากตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ โดยนายจุติ กล่าวภายหลังรับข้อเสนอดังกล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามนโยบายสวัสดิการสังคมของภาครัฐ ได้มายื่น 5 ข้อเสนอ ได้แก่ ให้รัฐบาลยกระดับและพัฒนานโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นระบบบำนาญประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้พื้นฐานและเป็นสิทธิสวัสดิการถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานของประชาชน อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยใช้อัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงน้อยจากการตกหล่นจากระบบคัดกรองความยากจน
การกำหนดอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์รายได้ที่เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน 3 - 5 เท่า จากข้อมูลเฉลี่ยทั่วประเทศ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน ปี 2,562 และอัตราเบี้ยยังชีพ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไม่มีการปรับขึ้นมานับตั้งแต่ ปี 2554 ให้คณะกรรมการผู้สูงอายุนำ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... ฉบับประชาชน และ ผู้สูงอายุ และบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ฉบับที่... พ.ศ... ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม มาพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นกฎหมายบำนาญประชาชน
ให้คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (ใหม่) ยกเลิกแนวทางการกำหนดการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะให้จัดสรรเบี้ยยังชีพเฉพาะกลุ่มคนยากจน หรือพิจารณาจากเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ โดยผู้ที่ได้รับต้องแสดงตัวตนและรายได้ และประกาศรายชื่อให้สาธารณชนรับรู้ และให้เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ให้สาธารณชนได้รับทราบ
รมว.พม.กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นของประชาชนทุกท่าน และได้เสนอไปว่าให้นำผลดี ผลเสีย ผลกระทบของแต่ละข้อมาเสนอในวันนี้ โดยตนจะนำไปอ่านและส่งให้กับคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่กำลังศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ต้องนำไปเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จากนั้น จะเสนอความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายจะต้องเสนอกลับเข้าไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกระบวนการนี้ไม่สามารถตัดสินใจเพียงผู้เดียวได้ สำหรับวันนี้ทุกคนได้มายื่นหนังสือแล้ว หากตนมีข้อสงสัยหรือหารือเพิ่มเติม จะขอเรียนเชิญท่านมาพูดคุยกัน
ยินดีและพร้อมรับฟังความเห็นของทุกคน เราจะคุยกันอย่างสันติและเป็นมิตร เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นให้สร้างสรรค์กับส่วนรวม และขอย้ำว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปัจจุบันยังคงจ่ายตามเกณฑ์เดิม ทุกคนจะได้รับเหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ จะด้วยกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ตาม จะต้องมีขั้นตอน
ทั้งนี้ อยากเรียนให้ทราบว่า วันนี้ไม่มีการตัดสิทธิใครทั้งสิ้นที่เคยได้รับอยู่เดิม ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้ว่า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร คนที่เคยได้สิทธิเดิมก็ขอให้ได้สิทธิจนกระทั่งเสียชีวิต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลุ้น "โบราณสถาน" อยุธยา รับมือ "น้ำท่วม" ระดับน้ำสูงขึ้นจากระบายน้ำเขื่อน
- รพ.สนามเลิดสิน รองรับผู้ป่วย "โควิด-19" จากสถานพยาบาลที่จะปิดให้บริกา
- แม่ค้าออนไลน์เฮ ขายชุดตรวจ "ATK" ผ่านร้านค้าและออนไลน์ได้แล้ว
-
สพฉ. แนะปชช.เสี่ยง "น้ำท่วม" เตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน พร้อมเร่งช่วยเหลือ
-
"สิทธิบัตรทอง" พื้นที่น้ำท่วม ให้รักษาต่อเนื่อง ส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน