เด่นโซเชียล

"Pfizer" ทดลองยาเม็ดรักษา "โควิด-19" ในคนสำเร็จ เดินหน้าเฟส 2/3 ต่อ

"Pfizer" ทดลองยาเม็ดรักษา "โควิด-19" ในคนสำเร็จ เดินหน้าเฟส 2/3 ต่อ

30 ก.ย. 2564

ข่าวดี "Pfizer" เผยผลสำเร็จ ทดลองยาเม็ดรักษา "โควิด-19" ในคนสำเร็จ เดินหน้าเฟส 2/3 ต่อ คาดหวัง สถานการณ์จะดีขึ้น หากนำออกใช้

ข่าวดี !! Pfizer ทดลองยาเม็ดชนิดรับประทาน เพื่อรักษาโควิดโดยตรงแล้ว

เป็นข้อความที่ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ทาง blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า จากสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลก และความหวังหลักของมนุษย์คือ การใช้วัคซีนในการป้องกัน ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่หลังจากที่มีไวรัสกลายพันธุ์ ก็พบว่า วัคซีนเป็นจำนวนมากมีประสิทธิผลในการป้องกันลดลง แต่ยังช่วยป้องกันการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้มาก นักวิทยาศาสตร์จึงทุ่มเทอีกด้านหนึ่งคู่ขนานกันไป คือ การวิจัยพัฒนายารักษาโรค ในกรณีที่ติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ยาจะได้เข้ามาช่วยรักษา ไม่ให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ในช่วงที่ผ่านมา ยาที่ใช้หลายชนิด มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ และต้องนอนโรงพยาบาลก่อน เช่น

 

  1. ภูมิคุ้มกันโมโนโคนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody)
  2. สเตียรอยด์ (Dexamethasone)
  3. Remdesivir

 

การวิจัยเพื่อหายาชนิดรับประทาน จึงเป็นความหวัง ที่จะทำให้มีการกระจายยาออกไปกว้างขวาง และใช้ได้รวดเร็วทันที ตั้งแต่ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ และต้องเข้านอนโรงพยาบาล

 

ขณะนี้บริษัท Pfizer ได้แถลงความคืบหน้าว่า ยาต่อต้านไวรัส (Antiviral Drug : PZ 07321332 ) ซึ่งได้เริ่มทดลองในมนุษย์เฟส 1 มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 และได้ผลดี ขณะนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่ เฟส 2/3 แล้ว ซึ่งจะเป็นการดูประสิทธิผลในการรักษาจริง โดยใช้อาสาสมัครที่อายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 2660 คน 1/3 จะได้รับยาหลอก และอีก 2/3 จะได้รับยารับประทาน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-10 วัน

 

โดยยาดังกล่าวออกฤทธิในการยับยั้งเอนไซม์ ที่ไวรัสใช้ในการเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ ( Protease inhibitor ) ซึ่งยาดังกล่าวนี้ อยู่ในกลุ่มซึ่งเคยใช้ได้ผลดีในการรักษาควบคุมโรคเอดส์ และโรคไวรัสตับอักเสบซี เรื่องผลข้างเคียงและความปลอดภัยจึงไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง โดยความคาดหวังของยาดังกล่าว คือ จะใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อชัดเจน หรือในกรณีที่ตรวจด้วยชุดทดสอบตนเองที่บ้าน (ATK) แล้วพบว่าติดเชื้อ แต่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งปกติคนเหล่านี้จะได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ต่อเมื่อนอนโรงพยาบาลแล้ว แต่ถ้าเป็นยารับประทานชนิดเม็ด ก็จะสามารถเริ่มให้ยาได้ ตั้งแต่มีผลตรวจเป็นบวก

 

นอกจากนั้น ยังเป็นการชะลอการระบาดของไวรัสในคนที่ไม่มีอาการด้วย เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ไวรัสสามารถผ่านออกมาทางอุจจาระได้นานถึง 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ติดเชื้อ 59% ในโลกเราขณะนี้ ยังมีอีกบริษัทคือ Merck ซึ่งได้ทดลองยาชื่อ Molnupiravir และคาดว่า จะมีโอกาสได้ใช้ในสิ้นปีนี้เช่นกัน ถ้ายาทั้งสองชนิด ของบริษัท Merck และ Pfizer ประสบความสำเร็จ และได้นำออกมาใช้จริง จะทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นมาก เพราะจะร่วมกับวัคซีนในการควบคุมการระบาดครั้งนี้

 

ขอบคุณ : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง