เด่นโซเชียล

"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" หลังฉีดวัคซีน mRNA ตัวเลขพุ่ง พบ อายุน้อยเพิ่มอีก

"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" หลังฉีดวัคซีน mRNA ตัวเลขพุ่ง พบ อายุน้อยเพิ่มอีก

01 ต.ค. 2564

"หมอยง" เผยข้อมูล ภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" หลังฉีดวัคซีน mRNA ตัวเลขพุ่ง แถมพบในเด็กชาย อายุน้อยลง เพิ่มอีก

ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan กรณีโควิด-19 วัคซีนเยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ระบุว่า

 

อุบัติการณ์ของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิดชนิด mRNA มีแนวโน้มรายงานเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะเฝ้าสังเกตอาการมากขึ้น โดยพบในผู้อายุน้อยมากกว่าอายุมาก เช่น

 

  • ในเด็ก 12 ถึง 17 ปี 
  • ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิง
  • อาการเกิดหลังฉีดวัคซีนเข็ม 2  มากกว่าเข็มแรกอย่างชัดเจน

 

การประเมินความเสี่ยง และประโยชน์จากวัคซีนในเด็ก จึงขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้มีการรายงานที่มีตัวเลขแตกต่างกันมาก เช่น ในเด็กชาย
อายุ 12-17 ปี  หลังการฉีดวัคซีนเข็ม 2 จากเดิมรายงาน  60 รายใน 1 ล้าน  เพิ่มขึ้นเป็นในเด็กชาย 12-15 ปี สูงถึง 162 ในล้าน และอายุ 16-17 ปี พบ 94 ในล้าน ส่วนใหญ่มีอาการใน 1-7 วัน หลังได้รับวัคซีน แต่อาจพบได้นานถึง 6 สัปดาห์ อาการมักไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่ต้องให้การรักษาด้วย IVIG ผู้ป่วยที่ตรวจพบ มีความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจมักกลับมาปกติภายใน 3 เดือน แต่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบระยะยาว

 

ศ.นพ.ยง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ระบุว่า ทำไมพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทำไมพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทำไมพบในการฉีดเข็ม 2 มากกว่าเข็มแรก คงต้องรอคำตอบการศึกษากลไกการเกิดโรค ในปัจจุบันกลไกการเกิดภาวะดังกล่าวยังไม่ทราบ  การแนะนำให้หยุดออกกำลังกาย ภายหลังการฉีดวัคซีน 1-2 สัปดาห์ ไม่ลดผลของการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่จะลดอาการที่เกิดจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ให้มีความรุนแรงได้ ถึงแม้ความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนชนิด mRNA จะพบได้น้อย แต่ยังคงต้องมีการศึกษาถึงหลักเกณฑ์การวินิจฉัย การตรวจวินิจฉัย การส่งต่อและการรักษาที่เหมาะสม ผลกระทบระยะยาวต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ รวมทั้ง การออกคำแนะนำ การกลับมาการออกกำลังกาย หรือพฤติกรรมตามปกติของผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน

 

นอกจากนี้ ควรศึกษาถึงกลไกการเกิดที่จำเพาะ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปัจจัยทางพันธุกรรม และประชากรกลุ่มเสี่ยง

ไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นักเรียน-นักศึกษา อายุ 12-18 ปี เดือน ต.ค. เป็นต้นไป พื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

 

  • 10-17 ก.ย. สถานศึกษา จัดเตรียมรายชื่อ และจำนวนนักเรียน ศธ.และ สธ.จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซักซ้อมความเข้าใจการฉีดวัคซีน และการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง
  • 17-22 ก.ย. สถานศึกษาจัดประชุมทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลกับผู้ปกครองในการฉีดวัคซีนให้เด็ก
  • 2-24 ก.ย. สถานศึกษาเชิญผู้ปกครองลงนามแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอม ให้นักเรียนเข้ารับวัคซีน
  • 25 ก.ย. โรงเรียน/ สถานศึกษา นำส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์แก่เขตพื้นที่การศึกษาก่อนรวบรวมที่ ศึกษาธิการจังหวัด
  • 26 ก.ย. ศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานการศึกษาในจังหวัด ประชุมสรุปจำนวนและรายชื่อนักเรียน
  • 1 ต.ค. โรงเรียน รับทราบกำหนดการฉีดวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่
  • 4 ต.ค. เริ่มฉีดวัคซีนแก่นักเรียน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง