เด่นโซเชียล

"สถานการณ์น้ำ" ทั่วประเทศยังน่าห่วงเฝ้าระวังแหล่งน้ำสำคัญ 16  แห่ง

"สถานการณ์น้ำ" ทั่วประเทศยังน่าห่วงเฝ้าระวังแหล่งน้ำสำคัญ 16 แห่ง

03 ต.ค. 2564

กอนช.รายงาน "สถานการณ์น้ำ" ทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจับตาแหล่งน้ำสำคัญ 16 แห่ง ด้านสถานการณ์ฝนยังตกหนักต่อเนื่อง เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศประจำ วันที่ 3 ต.ค. 64  ว่า  มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง และภาคตะวันออก แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคเหนือมีแนวโน้มลดลง

 

ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 54,355 ล้าน ลบ.ม. (66%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 48,193 ล้าน ลบ.ม. (67%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด อ่างฯ แม่มอก อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน อ่างฯ ทับเสลา อ่างฯป่าสักชลสิทธิ์ อ่างฯกระเสียว อ่างฯ จุฬาภรณ์ อ่างฯ อุบลรัตน์ อ่างฯ ลำตะคอง อ่างฯ ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน อ่างฯ ลำแซะ อ่างฯ ลำนางรอง อ่างฯ ขุนด่านปราการชล อ่างฯ นฤบดินทรจินดา และอ่างฯ หนองปลาไหล 

 

กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมรับมืออุทักภัย วานนี้ (2 ต.ค. 64) แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.บางไทรจ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำเฉลี่ย 3,052 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำบริเวณปากคลองตลาดกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับ 1.50 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 1.50 ม. (ระดับเฉลี่ยคันกั้นน้ำ 2.80 - 3.50 ม.รทก.)

สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ดังนี้

- ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +0.95 (ระดับวิกฤติ +1.80)

- ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.59 (ระดับวิกฤติ +0.90)

- ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.13 (ระดับวิกฤติ +0.60)

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ให้เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที และลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง โดยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (06.00 น.) พื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่เขตห้วยขวาง 106 มม.