หมอมนูญ เปิดข้อมูลน่าสนใจ "โมลนูพิราเวียร์" ยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรก
หมอมนูญ เปิดข้อมูลน่าสนใจ ประสิทธิภาพ "โมลนูพิราเวียร์" ยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรก ชี้ช่วยลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลได้ถึง 50% - ผู้ติดเชื้อได้รับยาไม่มีใครเสียชีวิต
วันที่ 4 ตุลาคม 2564 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ "หมอมนูญ" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุถึงยา "โมลนูพิราเวียร์" ที่มีประสิทธิภาพรักษาโรค โควิด-19
โดย "หมอมนูญ" ระบุว่า ข่าวดี คณะกรรมการที่ปรึกษาตัดสินให้ยุติการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัส Molnupiravir "โมลนูพิราเวียร์" ทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 วันที่ 1 ตุลาคม แทนที่จะเป็นปลายปี เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า "ยาโมลนูพิราเวียร์" เมื่อเปรียบเทียบกับ "ยาหลอก" มีประสิทธิภาพรักษาโรค "โควิด-19" อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
บริษัท เมอร์ค กำลังยื่นขอการรับรอง "โมลนูพิราเวียร์" จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) หรือ FDA ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ (ในสหรัฐฯไม่มีการรับรองให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เหมือนบ้านเรา)
โดย บริษัท เมอร์ค ศึกษาและทดสอบการใช้ยา "โมลนูพิราเวียร์" ในกลุ่มคนติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศลาตินอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา รวม 775 คน มุ่งเน้นคนติดเชื้อที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และคนที่มีความเสี่ยง เช่น คนสูงอายุ เบาหวาน โดยพบว่าผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาแคปซูลโมลนูพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม 4 เม็ด (วันละ 2 ครั้ง) เป็นระยะเวลา 5 วัน ประมาณ 7.3% เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดในกลุ่มตัวอย่างนี้ตลอดการรักษา 29 วัน
ขณะที่กลุ่มคนติดเชื้อที่ได้ ยาหลอก (Placebo) มีผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 14.1% และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 8 ราย
"หมอมนูญ" ระบุต่ออีกว่า ข้อมูลนี้น่าสนใจ ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยา "โมลนูพิราเวียร์" ไม่มีใครเสียชีวิตเลย ในขณะที่คนที่ได้รับ "ยาหลอก" กลับมีผู้เสียชีวิต 8 ราย และยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงที่จะเข้านอนโรงพยาบาลได้ถึง 50%
ยานี้มีผลข้างเคียงต่ำ ไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ การรักษาต้องให้ยานี้เร็วที่สุดภายในเวลา 5 วันหลังเริ่มมีอาการ
"ยาโมลนูพิราเวียร์" ออกฤทธิ์ต่อไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์เดลตา แกมมา และมิว โดยทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ผิดปกติ เวลาไวรัสก๊อปปี้ตัวเองจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ เรายังไม่มีข้อมูลใช้ยานี้นาน ๆ จะเกิดการดื้อยาหรือไม่
บริษัท เมอร์ค ตั้งเป้าผลิตยาให้ได้สำหรับ 10 ล้านคนภายในปีนี้ โดยทางการสหรัฐฯเตรียมสั่งจอง "โมลนูพิราเวียร์" แล้วสำหรับ 1.7 ล้านคน ราคายา 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เบื้องต้นบริษัท เมอร์ค ได้ทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อส่งยาโมลนูพิราเวียร์ราคาถูกให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
นอกจากบริษัท เมอร์ค แล้ว ยังมีอีกหลายบริษัท เช่น ไฟเซอร์ และโรช ก็กำลังศึกษายาต้านไวรัสชนิดเม็ดเช่นเดียวกันในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
"เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยได้ยาโมลนูพิราเวียร์จากประเทศอินเดีย เราควรเลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที เพราะยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแน่นอน"
ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ด่วน "โควิดวันนี้" ยอดต่ำหมื่น พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9,930 ราย เสียชีวิต 97
- "หมอมนูญ" ฟาด ศบค. ค้านถอด หน้ากากอนามัย ร้องเพลงในร้านอาหาร
- หมอมนูญ เผยข้อมูลล่าสุด พบผู้ป่วยโควิด "ปอดรั่ว" เองทั้ง 2 ข้าง
- "ล็อกดาวน์" ไม่ได้ผล "หมอมนูญ" ซัด กักตัวคนป่วย-กลุ่มเสี่ยงก็พอ ถึงเวลาเปิดเมืองแล้ว
- "100 วันอันตราย" หมอมนูญ ชี้ "ล็อกดาวน์" ก็เอาไม่อยู่ เตือน คนติดเชื้อ-ตาย พุ่งจาก"เดลตา"