หมอ แนะ ปลาทู-น้ำพริกกะปิ อาหารชะลอ "อัลไซเมอร์"
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แนะ ประโยชน์ของ "น้ำมันปลา" ช่วยสมองได้ แต่ต้องเริ่ม หมั่นกินก่อนเกิดอาการ "อัลไซเมอร์"
27 ก.ย.64 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุหัวข้อ น้ำมันปลาช่วยสมอง โดยใจความทั้งหมดมีดังนี้
น้ำมันปลาช่วยสมอง....แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ
(เพราะฉะนั้น สมุนไพรไทยมีมากหลาย ถึงเวลาต้องให้ความสนใจและปรับนำมาใช้)
หมอดี้อ
ไทยรัฐ สุขภาพหรรษา
พวกเราเกือบทุกคนทราบสรรพคุณของน้ำมันปลา หรือ โอเมก้า-3 โดยมีตัวพระเอกคือ DHA (Docosahexaenoic Acid) และมีพระรองคือ EPA ( Eicosapentaenoic Acid) โดยที่ถ้ากินต้องให้ได้ถึงวันละ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้น้ำมันปลาที่ว่าเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ชนิด PUFA (Polyunsaturated Fatty Acid) ที่เล็งกันมาก ว่าน่าจะมาชะลอโรคที่ทุกคนกลัวเมื่อเริ่มมีอายุตั้งแต่ 50 ปีกว่าๆ ขึ้นไป และจะโผล่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้โดยเฉพาะถ้ามีสามผู้ก่อการอันได้แก่ เบาหวาน ความดันสูง ไขมัน และแถมอีกหนึ่งคือ อ้วน ทั้ง 3-4 ผู้ก่อการมีผลก่อให้เกิดการอักเสบ (ไม่ติดเชื้อ) ในร่างกายและเกิดภาวะความผิดปกติในเส้นเลือด รวมทั้งเส้นเลือดในสมองแม้ยังไม่ตีบตันก็ตาม ได้แก่ ความสามารถในการยืดหยุ่น หดในเวลาที่ควรหด และขยายในเวลาที่ต้องการ เส้นเลือดเหล่านี้ทั้งแดงและดำ รวมทั้งช่องว่างรอบๆ เส้นแดง และดำ และที่อยู่ระหว่างเซลล์ในสมองประกอบเป็นระบบระบายของเสีย ดังนั้นถ้าท่อระบายไม่ดี บวกกับการสร้างที่มากขึ้นในคนที่มีชะตาร้าย “ขยะพิษ” เหล่านี้ยิ่งสะสมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ตอนนี้ถ้าเราเกิดมีดวงชะตาร้าย ยิ่งมีพันธุกรรมหรือยีนที่ชอบเป็นโรคสมองเสื่อมเช่นอัลไซเมอร์ ทั้งปัจจัยภายนอกจากผู้ก่อการร้าย แถมด้วยบุหรี่ สุราเกินขนาด เกินการดื่มเพื่อสุขภาพ (ชาย 3 หญิง 2 แก้ว ต่อวัน) อัลไซเมอร์ยิ่งมาเยือนได้มากยิ่งเร็วขึ้น
ข่าวร้ายของชาวเราๆ ทั้งหลายทั้งสว.สูงวัยหรือยังไม่สูงวัย เพราะการสะสมขยะพิษจนถึงมีอาการใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 ปี ขึ้นไป คือ รายงานในวารสาร Lancet Neurology (27 มีนาคม 2017) จากการศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ 1,680 ราย อายุ 70 ปี หรือมากกว่าที่ยังไม่มีสมองเสื่อมชัดๆ แต่เริ่มมีบ่นถึงความจำหรือเริ่มงกๆ เงิ่นๆ ในชีวิตประจำวันหรือเริ่มมีฝีก้าวในการเดินเริ่มเชื่องช้าลง จากการติดตามไป 3 ปี (ระหว่าง 2008-2011) ทั้งที่มีการฝึกสมองด้วยโปรแกรมต่างๆ ด้วยการออกกำลัง ปรับอาหาร และเสริมด้วย DHA 800 มิลลิกรัม และ EPA 225 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือเสริมด้วยยาหลอกมาเปรียบเทียบกัน และยังมีกลุ่มที่เสริมด้วยน้ำมันปลาอย่างเดียว โดยไม่มีโปรแกรมเสริมสมอง-ร่างกาย-ปรับอาหาร และกลุ่มที่มีแต่ยาหลอกเฉยๆ
ผลน่าเศร้าคือ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตามอัตราการเสื่อมของสมองมิได้แตกต่างกัน ข่าวนี้ทำให้ชาวเราเริ่มห่อเหี่ยว ทั้งๆ ที่คนไทยตอนนี้ก็สามารถเสริมน้ำมันปลาได้จากการกินปลาทู ปลาดุก ปลาสวาย โดยไม่ต้องซื้อน้ำมันปลาหรือต้องไปซื้อปลาแซลมอนมากิน แต่ทั้งนี้ต้องกินกับน้ำพริกกะปิ น้ำปลา น้อยๆ หน่อย เพราะอาจได้เกลือโซเดียมมหาศาลเกิดความดันสูง ไตพังเร็ว เข้าไปอีก
ช้าก่อนครับ อย่าเพิ่งเศร้า มีบทความในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกันทางประสาทวิทยา (JAMA Neurology) (17 มกราคม 2017) ออกมาตีปลาหน้าไซก่อน นัยว่าคงได้ระแคะระคาย รายงานฉบับที่กล่าวไว้ก่อนหน้า รายงานนี้เจาะจงการวิเคราะห์ผลของน้ำมันปลาต่อคนที่มียีนอัลไซเมอร์แบบ APOE 4 ทั้งนี้โดยที่ยีนนี้น่าจะประสงค์ร้ายต่อสมองทำให้การระบายขยะพิษ เบต้า-เอมิลอยด์ (Beta Amyloid) จากสมองไปเลือดไม่สะดวก อีกทั้งสมองจะมีการปรับฟื้นฟูได้แย่ถ้าเกิดมีอันตราย อีกทั้งยังมีการอักเสบมากกว่าธรรมดา และมีผลกระทบต่อเส้นเลือดในสมอง มีการศึกษามากหลายชี้ว่า ในบรรดาไขมันสมอง DHA เป็นตัวต่อต้านที่สำคัญที่สุดต่อ APOE 4 และอาจจะรวมถึงกลไกที่มาจากผู้ร้ายอื่นๆ ที่ทำให้สมองเสื่อม นอกจากนั้น ในสมองของคนอัลไซเมอร์จะมีระดับของ DHA น้อยกว่าคนปกติ โปรตีน APOE 4 จะส่งผ่าน DHA เข้าสมองได้น้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อม หนำซ้ำในระยะที่เกิดอาการสมองเสื่อมแล้ว จะมีการสลาย DHA ได้มากกว่าธรรมดา
กลไกของ APOE 4 ต่อ DHA ในสมองกล่าวโดยสรุปสามารถแยกเป็น 3 ขั้นตอน โดยขั้นที่ 1 เกิดจากการที่ DHA เมื่อกินเข้าไปแล้วจะต้องถูกนำพาไปด้วยตัวพาหะ Lipoprotein ในกรณีคนที่มียีนอัลไซเมอร์ APOE 4 Apolipoprotein จะจับกับ VLDL ได้ดีที่สุด และเมื่อ VLDL ผ่านเข้าตับจะถูกทำลายได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มียีนอัลไซเมอร์ โดยที่ระดับของ DHA ในเลือดจะสูงกว่าถึง 31% ขั้นที่ 2 DHA จากเลือดต้องผ่านผนังกั้นระหว่างเส้นเลือดกับสมอง โดยใช้ตัวส่งที่เรียกว่า MFSD 2a Transporter คนที่มี APOE 4 จะผิดปกติในการส่งผ่านนี้ ขั้นที่ 3 ในสมองนอกจากเซลล์ประสาท (Neuron) จะมีเซลล์อื่นผสมผสานช่วยเหลือ เช่น เซลล์ Astrocyte คนที่มียีนร้าย APOE 4 ที่ผิวของเซลล์นี้จะสามารถจับไขมัน เช่น DHA ได้น้อยกว่า และทำให้ส่งไปยังเซลล์ประสาทน้อยลง มิหนำซ้ำยังมีโปรตีน ABCA 1 ที่มีประสิทธิภาพน้อยลงในเซลล์ Astrocyte โดยที่ ABCA 1 จะผลักไขมันซึ่งรวมถึง DHA เข้าไปในน้ำหล่อเลี้ยงสมองไปยังเซลล์ประสาทเพื่อไปใช้งานต่อ
คราวนี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อมีอาการสมองเสื่อมแล้ว กลไกในสมองยิ่งเลวร้ายหนัก โดยเส้นทางการทำลาย DHA จะเกิดสาร F4-Neuroprostanes การทำลายเกิดจากการที่มีการกระตุ้น Phospholipase A2 (PLA2) และจากผลของการที่มีสารพิษตกตระกอนของ Amyloid ทำให้ DHA หลุดออกจากเซลล์ประสาทเกิดเป็น Unesterified DHA ซึ่งเปลี่ยนเป็น F4-Neuroprostanes ฉะนั้นในระดับที่มีอาการแล้ว จะอัด DHA เข้าไปก็จะไม่เห็นผลดีนัก
ที่กล่าวถึงกลไกซับซ้อนเงื่อนเหล่านี้ เพื่อให้พวกเราเข้าใจว่าการจะใช้ไม่ว่ายา อาหาร อาหารเสริม ควรต้องรู้กลไกเบื้องหลังของสารนั้นๆ และตัวโรค ขั้นตอนของโรคแต่ละตอนจะมีกลไกระบบต่างๆออกไป การจะสรุปว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลจะไม่ตรงไปตรงมา แต่ต้องเลือกว่าจะให้อะไร เมื่อไหร่ โดยพิจารณาอาการดูครอบครัวว่ามีใครเป็นมาก่อน และเริ่มให้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่ผู้ร้ายจะแสดงตนเต็มเหนี่ยว
อย่าเพิ่งเหนื่อยนะครับ หมอดื้อจะได้มาเล่าอะไรๆ สนุกๆ ให้ฟังต่อ
ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอดื้อ แนะ ทำความรู้จัก "ภูมิคุ้มกันเลว" ฉีดวัคซีน อาการหนักกว่าเดิม
- "สินเชื่อออมสิน" ให้ยืม 200,000 ผ่อนสบาย รู้ผลทันที
- ตำรวจ ปส.ฟิตปั๋ง โชว์จับ "ยาบ้า" ล็อตมหึมา 4.3 ล้านเม็ด ไอซ์ 130 กิโลกรัม
- จากใจลูกหม้อ "มรภ.นศ." มา24ปี ไม่อยากให้ มหาวิทยาลัย บอบช้ำไปมากกว่านี้
- "รานิเอรี่" ว่าที่กุนซือคนใหม่ แตนอาละวาด