เด่นโซเชียล

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้

05 ต.ค. 2564

ทำความรู้จัก ยาน KPLO ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ เกาหลีใต้ ที่เตรียมออกเดินทางในปี 2022 นี้ หลังร่วมมือกับ องค์การนาซา ของสหรัฐฯ

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ยาน KPLO (Korean Pathfinder Lunar orbiter) ยานสำรวจ "ดวงจันทร์" ลำแรกของ "เกาหลีใต้" ที่กำลังจะออกเดินทางในปีหน้านี้แล้ว 

 

 

ยาน KPLO (Korean Pathfinder Lunar orbiter) จะเป็นภารกิจแรกสู่ "ดวงจันทร์" ของเกาหลีใต้ มีกำหนดการส่งไปยังดวงจันทร์ ในปี ค.ศ. 2022 และยังเป็นก้าวแรกของเกาหลีใต้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในวงการสำรวจดาวเคราะห์นานาชาติ ภารกิจ "ยานสำรวจดวงจันทร์" ครั้งแรกของเกาหลีใต้นี้เป็นความร่วมมือกับองค์การนาซาของสหรัฐฯ 

 

โดย ยาน KPLO จะติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในเกาหลีใต้ กับกล้องถ่ายภาพของนาซา และจะส่งข้อมูลภาพพื้นผิวดวงจันทร์แก่นักดาราศาสตร์ เพื่อใช้สนับสนุนการวางแผนภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต (รวมถึงการส่งนักบินอวกาศลงไปสำรวจบริเวณขั้วของดวงจันทร์) 

 

ยาน KPLO จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดฟอลคอน 9 ของบริษัท SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2022 มีกำหนดถึง "ดวงจันทร์" ประมาณกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 (หากการปล่อยจรวดไม่เลื่อนออกไป) 

 

เมื่อ ยาน KPLO ไปถึง ดวงจันทร์ แล้วจะโคจรรอบดวงจันทร์ในวงโคจรรูปวงกลมที่มีระดับความสูงเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร และใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ 6 ตัว สำรวจดวงจันทร์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ \"ดวงจันทร์\" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

 

สำหรับอุปกรณ์ 4 ตัวแรกบน ยาน KPLO เป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพและตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผลิตใน เกาหลีใต้ ประกอบด้วย 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 1 : กล้องถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ความละเอียดสูง ในระดับ 2.5 เมตร/พิกเซล 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 2 : กล้องถ่ายภาพมุมกว้างสำหรับวิเคราะห์ชนิดวัสดุบนพื้นผิวดวงจันทร์ จากลักษณะการสะท้อนแสงและกระเจิงแสงอาทิตย์บนพื้นผิว 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 3 : เครื่องวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีแกมมา ทำหน้าที่สังเกตการณ์รังสีแกมมาพลังงานสูงที่ปล่อยออกมาจาก ดวงจันทร์ ซึ่งระดับพลังงานของรังสีแกมมาเหล่านี้จะขึ้นกับธาตุที่เป็นแหล่งกำเนิดรังสี นักวิทยาศาสตร์จึงนำข้อมูลความสัมพันธ์ดังกล่าวมาศึกษาชนิดของวัสดุบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ 

 

อุปกรณ์ตัวที่ 4 : กล้องโพลาไรเมตรี (Polarimetric) ใช้วัดแสงที่มีระนาบการสั่นของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่าง ๆ สามารถตรวจวัดประเภทวัสดุบนพื้นผิวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาองค์ประกอบทางแร่บนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ 

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ \"ดวงจันทร์\" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

การวิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกันจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบของพื้นผิวดวงจันทร์ และลักษณะทางธรรมชาติของพื้นที่ทับถมของหินภูเขาไฟแบบต่าง ๆ รวมถึงวิวัฒนาการของภูมิประเทศบนดวงจันทร์ตลอดระยะเวลา 4 พันล้านปี 

 

ขณะที่ อุปกรณ์ตัวที่ 5 คือ เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็ก เป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของ ยาน KPLO ตัวสุดท้ายที่ผลิตในเกาหลีใต้ แม้ว่าดวงจันทร์จะสูญเสียสนามแม่เหล็กที่ครอบคลุมตัวดาวทั้งดวงแล้ว แต่ยังมีสนามแม่เหล็กอ่อน ๆ ปรากฏเป็นหย่อมในบางพื้นที่ เครื่องตรวจวัดสนามแม่เหล็กบนยานจะศึกษาสนามแม่ดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ว่าสนามแม่เหล็กเหล่านี้จะช่วยลดความรุนแรงของสภาพการแผ่รังสีจากอวกาศได้มากน้อยเพียงใด และสนามแม่เหล็กที่หลงเหลืออยู่บนดวงจันทร์อาจใช้ศึกษาสภาพทางธรรมชาติของดวงจันทร์ในอดีตได้ 

 

อุปกรณ์ตัวสุดท้ายบนยาน KPLO คือ กล้อง ShadowCam กล้องถ่ายภาพที่มีความไวในการตอบสนองสูงมาก ผลิตโดย องค์การนาซา ของสหรัฐฯ ใช้ถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ส่วนที่ตกในเงามืดตลอดเวลา เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำคัญเรื่องภูมิประเทศและการกระจายตัวของน้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมไปถึงการวางแผนสำรวจบริเวณขั้วดวงจันทร์ในอนาคต 

 

ในภารกิจ KLPO องค์การนาซา ยังมีความร่วมมือกับ เกาหลีใต้ อีก 3 อย่าง นอกจากการผลิตกล้อง ShadowCam สำหรับยาน KPLO ได้แก่ 

 

  • การคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ของนาซา 9 คนเข้าร่วมทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจของยานลำนี้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 เพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ 
  • การร่วมทดสอบระบบอินเตอร์เนตในห้วงอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ (Interplanetary internet) กับยาน KPLO ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคม 
  • การสนับสนุนในเชิงเทคนิคของนาซา ในการออกแบบภารกิจ การสื่อสารคมนาคมในห้วงอวกาศลึก และเทคโนโลยีการนำทาง 

 

เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ตกลงเซ็น "ข้อตกลงอาร์ทีมิส" (Artemis Accords) ซึ่งเป็นหลักการด้านความร่วมมือระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแผนการสำรวจดวงจันทร์ของนาซาในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะส่งผลให้การแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากการสำรวจดวงจันทร์ระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้เป็นไปได้ง่ายขึ้น และปูทางให้ประเทศทั้งสองมีโอกาสร่วมมือกันในโครงการอวกาศในอนาคตต่อไป 

 

ภารกิจ KPLO นับเป็นเฟสแรกของโครงการ สำรวจดวงจันทร์ ของประเทศเกาหลีใต้ ส่วนในเฟสที่ 2 เกาหลีใต้วางแผนจะส่งยานลำอื่น ๆ ทั้งยานโคจรรอบดวงจันทร์ ยานลงจอด และรถสำรวจ 

 

ประธานาธิบดีมุน แจอิน ผู้นำรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ประกาศว่า เกาหลีใต้จะส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ไปกับจรวดที่พัฒนาและผลิตในประเทศ ก่อนปี ค.ศ. 2030 

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ \"ดวงจันทร์\" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

ส่อง ยาน KPLO ยานสำรวจ \"ดวงจันทร์\" ลำแรกของ เกาหลีใต้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. / NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

อ้างอิง : www.planetary.org