รมว.แรงงาน ยืนยัน จ่าย"เงินประกันว่างงาน" ลูกจ้างบริลเลียนท์ กว่า 65 ล้านบาท
รมว.แรงงาน ยืนยัน ดูแลลูกจ้างบริลเลียนท์ฯ อย่างเต็มที่ จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 1,231 คน 22,321,856 บาท สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง 65,540,768 บาท
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นเนลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนลูกจ้าง บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด เดินทางไปบริเวณศูนย์รับเรื่องรองทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรี และขอให้ช่วยแก้ปัญหาของลูกจ้างและเรียกร้องให้รัฐบาลนำงบกลางมาจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อเป็นบรรเทาความเดือดร้อน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เข้าไปช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท บริลเลียนท์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 1,388 คน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 เนื่องจากนายจ้างปิดกิจการและไม่ได้รับเงินชดเชย โดยผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือนั้น พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 242,686,682.71 บาท ซึ่งนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงได้แจ้งความดำเนินคดีอาญานายจ้าง ฐานฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ปัจจุบันศาลได้ออกหมายจับกรรมการผู้มีอำนาจแล้วเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 และนิติกรได้ยื่นฟ้องนายจ้างให้ปฏิบัติจ่ายเงินตามคำสั่งข้างต้นต่อศาลแรงงาน โดยศาลแรงงานนัดพิจารณาวันที่ 18 ตุลาคมนี้
ในส่วนของการดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้าง ในเบื้องต้นได้บรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างโดยจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 1,231 คน เป็นเงินจำนวน 22,321,856 บาท และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงินจำนวน 65,540,768 บาท
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมจัดหางานจัดตำแหน่งงานเพื่อรองรับผู้ว่างงานในจังหวัดสมุทรปราการจำนวน 1,834 ตำแหน่ง ล่าสุดได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหนังสือถึงสำนักงบประมาณขอหารือและทบทวนการนำเงินงบกลางจำนวน 242 ล้านบาท มาจ่ายให้ลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างบริลเลียนท์ฯ ให้ได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมผู้แทนลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้อง จำนวน 4 ข้อ คือ
- ขอให้นำเงินจำนวน 242,686,862.71 บาท มาจ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อน
- ขอให้ติดตามนายจ้างดำเนินการจ่ายค่าจ้างตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
- ขอให้ดำเนินคดีอาญากับนายจ้างอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นายจ้างรายอื่น
- ขอให้รัฐบาลหาแนวทางหรือมาตรการไม่ให้นายทุนต่างชาติเอาเปรียบลูกจ้าง
ซึ่งกรมได้ชี้แจงผลการดำเนินการต่อที่ประชุมดังนี้
- กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน กรมฯได้ดำเนินคดีอาญา คดีแพ่งนายจ้าง และได้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างแล้ว
- กรณีนายจ้างเลิกจ้างและไม่จ่ายเงินตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ได้เสนอแนวทางกำหนดมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ ท่านดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ประธานการประชุม ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือโดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตัวนายจ้างนำเงินมาชดใช้แก่ลูกจ้างรวมทั้งการรับโทษตามกฎหมาย และให้นำเรื่องที่ผู้แทนลูกจ้างขอให้รัฐบาลดำเนินการนำเงินงบประมาณกลางมาจ่ายเยียวยาให้ลูกจ้างนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี โดยเสนอผ่าน ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา ต่อไป