เด่นโซเชียล

"สิทธิบัตรทอง" ชวนวัยเกษียณ ลงทะเบียน ย้ายสิทธิ-เปลี่ยนหน่วยผ่านแอปง่ายๆ

"สิทธิบัตรทอง" ชวนวัยเกษียณ ลงทะเบียน ย้ายสิทธิ-เปลี่ยนหน่วยผ่านแอปง่ายๆ

11 ต.ค. 2564

เช็ค "สิทธิบัตรทอง" ชวนวัยเกษียณ-ผู้ประกันตน ขาดส่งเงินสมทบ ลงทะเบียนย้ายสิทธิ-เปลี่ยนหน่วยบริการ ผ่านแอปพลิเคชันง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ช่วงรอยต่อหลังจากวันที่ 30 กันยายนของทุกปี จะมีผู้เกษียณอายุการทำงาน ออกจากระบบเป็นจำนวนมาก ทั้งข้าราชการ และผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชน ซึ่งจะสัมพันธ์กับสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย โดยผู้ที่เป็นข้าราชการเกษียณที่เลือกไม่รับบำนาญ ก็จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ "บัตรทอง" เข้ามาช่วยดูแล เช่นเดียวกับผู้ที่เคยเป็น "ผู้ประกันตน" ในระบบ "ประกันสังคม" หากไม่ได้ส่งเงินสมทบต่อเนื่องหลังเกษียณอายุการทำงาน ก็จะได้รับการดูแลผ่านระบบบัตรทองเช่นกัน

 

สำหรับผู้มี "สิทธิบัตรทอง" นอกจากกลุ่ม "ผู้ประกันตน" ที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแล้ว ยังมีอีก 5 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

 

  1. เด็กแรกเกิด ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา 
  2. บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ 
  3. บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ (สิทธิสวัสดิการข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน)
  4. ข้าราชการที่เกษียณอายุ หรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ 
  5. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน

 

โดยคนทั้ง 6 กลุ่มนี้ ถือว่ามีสิทธิบัตรทองตามกฎหมาย

 

ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้สิทธิ "หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" และเลือกหน่วยบริการ ฟรี

 

  1. การลงทะเบียนรายบุคคล เพื่อเลือกหน่วยบริการหรือขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง 
  2. การลงทะเบียนในกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษา หรือพักในหอพักของสถานศึกษา หรือกลุ่มทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ดำเนินการโดยกรมการแพทย์ทหาร กระทรวงกลาโหม 
  3. การลงทะเบียนแทนผู้มีสิทธิ โดยมอบให้ สปสช. ดำเนินการ กรณีเด็กแรกเกิด 0-5 ปี, กรณีบุคคลสิ้นสุดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ หรือสิ้นสุดประกันสังคม หรือสิ้นสุดสิทธิประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้, กรณีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้แล้วถอนตัว หรือพ้นจากการเป็นหน่วยบริการประจำ, กรณีเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนหน่วยบริการกลับภูมิลำเนา ผู้พ้นโทษต้องขังในเรือนจำ ทหารเกณฑ์ปลดประจำการ, กรณีบุคคลเข้ารับบริการสาธารณสุขเป็นครั้งแรก และยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ

 

\"สิทธิบัตรทอง\" ชวนวัยเกษียณ ลงทะเบียน ย้ายสิทธิ-เปลี่ยนหน่วยผ่านแอปง่ายๆ

 

หลังจากลงทะเบียนแล้ว ผู้ใช้สิทธิ สามารถตรวจสอบสิทธิและทราบหน่วยบริการประจำของตนเองได้ 4 วิธี 

 

  1. ผ่านแอปพลิเคชัน "สปสช."
  2. ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 2 ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วกด # และกดโทรออก 
  3. ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 
  4. ติดต่อด้วยตนเองในเวลาราชการ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลของรัฐ และ สปสช.เขต 1-12

 

\"สิทธิบัตรทอง\" ชวนวัยเกษียณ ลงทะเบียน ย้ายสิทธิ-เปลี่ยนหน่วยผ่านแอปง่ายๆ

 

เอกสารสำหรับการลงทะเบียน 

 

  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ หากไม่มีบัตรประชาชนให้ใช้สูติบัตร (ใบเกิด) แทน 
  • หนังสือรับรองการพักอาศัย กรณีที่อยู่ไม่ตรงตามบัตรประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่า ตนเองนั้นอาศัยอยู่จริง เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ สัญญาเช่าที่พักฯลฯ 
  • แบบคำร้องขอลงทะเบียน โดยขอได้ ณ จุดรับลงทะเบียน

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรายงานการเปลี่ยนแปลงสิทธิของ สปสช. ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 มีผู้ที่ย้ายเข้ามาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น 2,387,203 ราย แบ่งเป็น

 

  • เดือนมกราคม 624,054 ราย
  • เดือนกุมภาพันธ์ 666,966 ราย
  • เดือนมีนาคม 267,248 ราย
  • เดือนเมษายน 136,520 ราย 
  • เดือนพฤษภาคม 177,539 ราย
  • เดือนมิถุนายน 135,705 ราย
  • เดือนกรกฎาคม 266,513 ราย
  • เดือนสิงหาคม 112,658 ราย