เด่นโซเชียล

เหนือ-กลาง-อีสาน เฝ้าระวัง "ระดับน้ำสูงขึ้น" เสี่ยงล้นตลิ่งท่วมที่ลุ่มต่ำ

เหนือ-กลาง-อีสาน เฝ้าระวัง "ระดับน้ำสูงขึ้น" เสี่ยงล้นตลิ่งท่วมที่ลุ่มต่ำ

11 ต.ค. 2564

อัปเดต "สถานการณ์น้ำ" เฝ้าระวังเขื่อนหลัก "ระดับน้ำสูงขึ้น" หลายแห่งปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ทั่วประเทศเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งล้นอ่างเก็บน้ำหลายจุด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากแผนที่ฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 11 – 16 ตุลาคม 2564  มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดสกลนคร และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้ว ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

 

2. เฝ้าระวังระดับน้ำสูงขึ้นในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ (จังหวัดพิษณุโลก ลำปาง สุโขทัย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี มุกดาหาร ยโสธร เลย บึงกาฬ นครพนม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และสกลนคร) ภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง นครนายก ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี) ภาคกลาง (จังหวัดลพบุรี และสระบุรี) ภาตตะวันตก (จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์) และภาคใต้ (จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี)  

3. เฝ้าระวังระดับน้ำสูงขึ้นในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ

ภาคเหนือ บริเวณแม่น้ำน่าน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยม อำเภอสามง่าม และอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชี อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด  และอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร แม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 

ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 

 

4. เฝ้าระวังแม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้น

ด้านกรมชลประทาน รายงานสถานการณน้ำ โดยระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 864 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90% ของความจุอ่างฯ ได้มีการปรับลดการระบายน้ำเหลือเพียง 550 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักบริเวณด้านท้ายเขื่อนป่าสักฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.ลพบุรี ด้วยการปิดการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก พร้อมมอบหมายให้สำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟลขนาด 42 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟลขนาด 24 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อช่วยให้สามารถระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลงสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ได้เพิ่มขึ้นเป็น 15 ลบ.ม./วินาที

 

เว็บไซต์ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รายการสถานการณ์ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และลุ่มน้ำชี-มูล โดยหลายแห่งเริ่มมีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง 

 

ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

  • สถานีท้ายเขื่อนพระราม6  อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่ง ระดับน้ำอยู่ที่ 8.05  ม.รทก.
  • สถานีท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่ง ระดับน้ำอยู่ที่  7.94 ม.รทก.
  • คลองบางบาล ต.ไทรน้อย  อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 8.72 ม.รทก.
  • สถานีเมืองลพบุรี ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมือง จ.ลพบุรี น้ำล้นตลิ่ง ระดับน้ำอยู่ที่ 6.94 ม.รทก.
  • สถานีวิเชียรบุรี ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ น้ำล้นตลิ่ง ระดับน้ำอยู่ที่  66.80 ม.รทก.