ทำความรู้จัก เหล่าภัยร้าย "โรคที่มากับน้ำท่วม" ไม่ระวัง เสี่ยงทุกคน
กรมการแพทย์ โดย รพ.เมตตาฯ เตือน ระวัง "โรคที่มากับน้ำท่วม" ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต
กรมการแพทย์ โดย รพ.เมตตาฯ เตือน ระวัง "โรคที่มากับน้ำท่วม" ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต
วันนี้ 12 ต.ค.64 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ "น้ำท่วม" ต้องระมัดระวัง ติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ
สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วม ได้แก่
1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม
2.กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง
3.กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วมคือโรคไข้ฉี่หนูโรคไข้เลือดออก และโรคตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ
ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือแมลงหรือสัตว์มีพิษ เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ กัด ต่อย เป็นต้น แนะสำรวจรอบบ้านและเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ ควรจัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ หากพบเห็นสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดีและเรียกผู้ชำนาญมาช่วย
นายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์น้ำท่วมขังนี้ นอกจากโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคไข้หวัดนก โรคปอดอักเสบ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคฉี่หนู หรือโรคแลปโตสไปโรซิส หรือโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค เช่น ไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี แล้วยังมีโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดงที่ต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ
จากสภาพอากาศที่อับชื้นและเย็นลง ซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค หากเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาเยือน ไม่เพียงแต่เสี่ยงกับโรคระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคทางผิวหนังแล้ว ดวงตาก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะ โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบสามารถเป็นได้ ซึ่งน้ำที่ท่วมขังก็อาจจะมีเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย เมื่อน้ำที่สกปรกนั้นกระเด็นเข้าตาเรา ก็จะเกิดการติดเชื้อไปอย่างรวดเร็ว อาการรุนแรงที่สุดจะมีอาการอักเสบ เคืองตาอย่างรุนแรง ตามัว หากมีปัญหากับดวงตาหรือมีอาการผิดปกติควรพบจักษุแพทย์
นายแพทย์เอกชัย อารยางกูร หัวหน้าศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านจักษุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องสุขภาพดวงตาก็ต้องการการดูแลเช่นกัน เพราะดวงตามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาวะเหตุการณ์น้ำท่วมขังในขณะนี้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคตาติดเชื้อได้มาก โดยเฉพาะโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือตาแดง ซึ่งอาการของนั้นเกิดได้จากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียเข้าดวงตา ถึงไม่เป็นโรคอันตรายถึงชีวิตเพราะหายได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ หากได้รับเชื้ออาการตาแดงจะรู้สึกเคืองตา น้ำตาไหล มีขี้ตามากจะเกิดได้ภายใน 1-2 วัน และระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 2 สัปดาห์
โดยแบ่งอาการได้โดยเกิดอาการตาขาวมีสีแดงเรื่อ ๆ ระคายเคือง แสบตา น้ำตาไหล มีขี้ตามากกว่าปกติ เช่น โรคตาแดง ที่อาจเกิดจากน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หรือนำมือที่เปื้อนสิ่งสกปรกไปสัมผัสโดนดวงตาหรือหากเกิดจากติดเชื้อไวรัส หนังตาจะบวม น้ำตาไหลมาก ต่อมน้ำเหลืองกกหูบวม ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแพ้แสงหากติดเชื้อแบคทีเรียจะมีขี้ตาสีเขียว หรือสีเหลือง มีน้ำตาไหล ตาแฉะ มองเห็นไม่ชัดและหากเกิดจากการแพ้ จะรู้สึกคันตา แสบตา มีน้ำตาไหล
วิธีการป้องกันโรคตาแดง ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดตัวป้องกันและหลีกเลี่ยงฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาด ล้างมือให้สะอาด เลี่ยงการเอามือไปสัมผัสดวงตาบ่อยๆไม่อยู่ในพื้นที่แออัด หากจำเป็นต้องสวมแว่นกันแดด กันฝุ่น กันลมช่วยและควรระวังไม่ให้แมลง หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ส่วนการรักษาโรคตาแดงนั้นหากมีอาการตาแดง ควรพักผ่อน ลาหยุดงานจนกว่าจะหายเพื่อลดการระบาดของโรค และสามารถใช้น้ำตาเทียมช่วยหากมีอาการระคายเคืองตามาก และควรพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาโรคต่อไป
ส่วนวิธีป้องกันโรคตา และภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก สามารถปฏิบัติได้โดย
1.หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาดทันที
2.ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน หรือถูกสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมากัดต่อยได้
3.ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง
4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง และ
5.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งเสมอ
ที่มา กรมการแพทย์