เด่นโซเชียล

อัปเดต "สถานการณ์น้ำ" เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ทั่วประเทศเฝ้าระวังน้ำล้นอ่าง

อัปเดต "สถานการณ์น้ำ" เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ทั่วประเทศเฝ้าระวังน้ำล้นอ่าง

13 ต.ค. 2564

อัปเดต "สถานการณ์น้ำ" ล่าสุด อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำเพิ่งสูงกว่า 80% เสี่ยงล้นอ่าง-ล้นตลิ่ง เฝ้าระวังพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำหวั่นได้รับผลกระทบมากที่สุด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ( กอนช.) อัปเดตสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 3 วันที่ 12 ตุลาคม 2564 พายุโซนร้อนกำลังแรง "คมปาซุ" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2564 โดยจะอ่อนกำลังลง และทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ประกอบกับในช่วงวันที่ 12 - 16 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ 

กอนช. ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งได้ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 11 – 16 ตุลาคม 2564  ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2564 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564

กอนช. ขอเน้นย้ำยังคงให้ติดตาม สถานการณ์น้ำ ซึ่งยังมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 13 – 20 ตุลาคม 2564 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา
2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสกลนคร) ภาคตะวันออก (จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ภาคกลาง (จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี) ภาคตะวันตก (จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี)
3. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
  • ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี 

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กอนช.ได้เตรียมความพร้อมดังนี้ 


1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์