เฝ้าระวัง "สถานการณ์น้ำ" เขื่อนหลักระบายน้ำเพิ่มทำระดับหลายจุดสูงขึ้น
อัปเดต "สถานการณ์น้ำ" หลายเขื่อนต้องเพิ่มการระบายน้ำ ควบคุมเขื่อนเจ้าพระยาระบายไม่ให้เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ลดผลกระทบพื้นที่กรุงเทพฯ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำล่าสุด ดังนี้ อิทธิพลของพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกกระจายทั่วพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนหลายแห่ง ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มอัตราระบายน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนไม่ให้ล้นความจุ และเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนในช่วงนี้ เช่น เขื่อนกระเสียว ปัจจุบันมีระดับน้ำ 298 ล้าน ลบ.ม. จากระดับเก็บกัก 299 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปรับอัตราการระบายเป็นประมาณวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีระดับน้ำ 988 ล้าน ลบ.ม. จากระดับเก็บกัก 960 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปรับอัตราการระบายเป็นประมาณวันละ 47 ล้าน ลบ.ม. โดยจากการประเมินสถานการณ์ฝนและการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนในช่วงนี้ พบว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงหรือซ้ำเติมสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ ปัจจุบัน กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากแม่น้ำปิง เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง ในช่วงวันที่ 14–17 ต.ค. 64 ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และจ.สระบุรี รวมทั้งทำให้ระดับน้ำใน แม่น้ำปิง แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำป่าสัก คลองชัยนาท-ป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในวันที่ 22 ต.ค. 64 จะมีน้ำไหลผ่านบริเวณ อ.เมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มสูงสุดเป็น 3,000-3,100 ลบ.ม./วินาที จากอัตราเดิม 2,484 ลบ.ม./วินาที ซึ่ง กอนช. ได้ประสานกรมชลประทาน ในการหน่วงน้ำและผันน้ำเข้าคลองต่าง ๆ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมระดับน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที อย่างไรก็ตาม จะยังคงส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงไป มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20-40 ซม. ในช่วงวันที่ 23-30 ต.ค. 64 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2564
ในส่วนของแม่น้ำท่าจีน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำ 150 – 200 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากมีน้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้น เขื่อนกระเสียว และไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายเขื่อน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการโดยผันน้ำเข้าทุ่งโพธิ์พระยาเพื่อลดปริมาณน้ำหลาก โดยปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร เพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 30 –50 ซม. ในช่วงวันที่ 20 - 27 ต.ค. 64
สถานการณ์น้ำที่จะส่งผลกระทบบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร อำเภอบางไทร เฉลี่ย 2,827 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด อยู่ที่ระดับ 1.62 ม. จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครช่วงที่ต่ำสุด อยู่ประมาณ 1.38 ม. จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประมาณช่วงเย็นวันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุด ที่ระดับ 1.15 ม. จากระดับทะเลปานกลาง
ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
- สถานีหนองไผ่ ต.นาเฉลียง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบุรณ์ น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 94.37 ม.รทก.
- สถานีศรีมหาโพธิ์ ต.บ้านทาม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 8.08 ม.รทก.
- สถานีคลองบางบาล ต.ไทรน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 8.98 ม.รทก.
- สถานีสามซุก ต.สามซุก อ.สามซุก จ.สุพรรณบุรี น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 8.49 ม.รทก.
- สถานีวิเชียรบุรี ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 66.87 ม.รทก.
- สถานีคลองบางหลวง ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 6.84 ม.รทก.
ลุ่มแม่น้ำชี-มูล
- สถานีน้ำพรม อ.เกษตรสมบูรณ์ ต.บ้านหัน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 225.72 ม.รทก.
- สถานีลำเชิญ อ.ชุมแพ (ท้ายฝายโครงการชลประทานน้ำเชิญ) ต.สามสวน อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ น้ำล้นตลิ่งระดับน้ำอยู่ที่ 221.75 ม.รทก.