กรมอนามัย ย้ำ ปชช.เข้มมาตรการ "Covid Free Setting" หลัง "เปิดประเทศ"
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชน สถานประกอบกิจการ เข้มมาตรการ UP (Universal Prevention) และ "Covid Free Setting" ควบคู่ไปกับการ "เปิดประเทศ" เพื่อเป็นการยกระดับการป้องกันโควิด-19
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชน สถานประกอบกิจการ เข้มมาตรการ UP (Universal Prevention) และ "Covid Free Setting" ควบคู่ไปกับการ "เปิดประเทศ" เพื่อเป็นการยกระดับการป้องกันโควิด-19
3 พ.ย. 64 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังแถลงข่าว ณ ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี จากกรณีเปิดเมือง เปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุขได้เน้น 4 หลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ และประชาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบวิถีใหม่ ได้แก่
1) การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย
2) การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลา
3) กิจการกิจกรรมเข้มมาตรการ COVID Free Setting
4) การตรวจหาเชื้อเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK
ซึ่งจากผลสำรวจ ของอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 รายงานว่าประชาชนในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัดท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ได้น้อยที่สุดในเรื่องสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับผู้อื่นในบ้าน โดยพบเพียงร้อยละ 53.9 ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 ดังนั้น จึงเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังตนและปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention รวมถึงให้ตระหนักว่า เราทุกคนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ทุกที่ ทุกเวลา พร้อมทั้งเข้มงวดกับ พฤติกรรมของตนเอง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ของสถานประกอบการ พื้นที่ใน 17 จังหวัดท่องเที่ยว พบว่า ผ่านการประเมินจำนวน 3,068 แห่ง จากที่ลงทะเบียนทั้งหมด 3,192 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 96 โดยพบว่า สถานประกอบการที่เข้ารับการประเมินมากที่สุด คือ ร้านอาหาร สปา นวดเพื่อสุขภาพ และห้างสรรพสินค้า ตามลำดับ ซึ่งพบว่ามาตรการที่มักไม่ผ่าน ได้แก่ การฉีดวัคซีนของพนักงาน การจัดอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เพียงพอ เช่น เจลแอลกอฮอล์ การแยกสำรับของศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า การควบคุมกำกับติดตาม การคัดกรองความเสี่ยง และระบบกรองอากาศเฉพาะที่
ในส่วนของสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ประเมินตามมาตรการ COVID Free Setting สามารถประเมินตนเองได้โดยผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th โดยทุกสถานประกอบการที่ประเมินผ่าน สามารถพิมพ์ใบรับรองผล เพื่อติดไว้หน้าร้านแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่
1) ใบรับรอง Thai Stop COVID Plus (TSC+) ซึ่งสถานประกอบการทุกแห่งในทุกจังหวัด ต้องประเมินตนเองตามมาตรการ TSC+
2) ใบรับรอง COVID Free Setting (CFS หรือ TSC2+) เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวรองรับการเปิดประเทศ หรือจังหวัดที่จะนำเอามาตรการไปปรับใช้ โดยให้สถานประกอบการเลือกประเมิน COVID Free Setting ซึ่งควรผ่านการประเมิน TSC+ เพื่อสามารถประเมิน COVID Free Setting ต่อไป และ
3) สติ๊กเกอร์ COVID Free Setting ประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนด โดยมีการแจ้งความประสงค์จากสถานประกอบการ
“สำหรับช่องทางภาคประชาชนเพื่อประเมินสถานประกอบการ สามารถดำเนินการใน 3 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 สแกน QR Code ใน E-Certificate ของสถานประกอบการที่ไปใช้บริการ ช่องทางที่ 2 ประเมินผ่านทางเว็บไซต์ Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย และ ช่องทางที่ 3 ประเมินผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ผู้พิทักษ์อนามัย COVID watch”
"ทั้งนี้ กรมอนามัยคงเน้นย้ำให้ทุกคนการ์ดไม่ตก ปฏิบัติตามมาตรการ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งร่วมเป็นหู เป็นตา โดยประเมิน แนะนำ ติชม และร้องเรียนสถานประกอบการ ให้ปฏิบัติได้ตามมาตรการ COVID Free Setting ได้ตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้การเปิดเมือง เปิดประเทศครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว