เด่นโซเชียล

ชูวิทย์ ฉะยับ "เปิดประเทศ" ให้เคี้ยว แต่ไม่ให้กลืน รายกลาง-รายเล็กตายสนิท

ชูวิทย์ ฉะยับ "เปิดประเทศ" ให้เคี้ยว แต่ไม่ให้กลืน รายกลาง-รายเล็กตายสนิท

04 พ.ย. 2564

ชูวิทย์ ฉะยับ "เปิดประเทศ" ซัดรัฐบาลทำอะไรกั๊ก ๆ ให้เคี้ยว แต่ไม่ให้กลืน ชี้รายใหญ่รอด แต่รายกลาง-รายเล็กตายสนิท สุดสงสารบรรดาธุรกิจหวังลืมตาอ้าปากแต่ดันมาเจอมาตรการโหดสารพัด

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นาย "ชูวิทย์" กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี "เปิดประเทศ" ให้เคี้ยว แต่ไม่ให้กลืน 

 

 

โดย "ชูวิทย์" ระบุว่า "เปิดประเทศ" มาตั้งแต่วันที่ 1 รัฐบาลประกาศปาว ๆ เชิญชวนต่างชาติมาท่องเที่ยว แต่หามีความพร้อมไม่?

 

เอาแค่ร้านอาหารที่ว่าให้ขายแอลกอฮอล์ หรือโรงแรมที่จะเปิดรับการเปิดประเทศต้องมี SHA Plus ไว้ควบคุม 

 

ดูเหมือนจะปล่อยให้ดื่ม แต่ก็กั๊กไว้ด้วยระเบียบควบคุมหยุมหยิม จะว่าดีมันก็ดีที่ป้องกันไว้ก่อน แต่การสมัคร SHA Plus มีขั้นตอนมากมายซับซ้อนยุ่งยาก เหมือนแทนที่จะสนับสนุน กลับซ้ำเติมให้ปิดต่อไป 

 

แม้ว่าต้องมีการควบคุม แต่หน่วยงานรัฐควรจะช่วยธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ให้พร้อมรับการ เปิดประเทศ ฟื้นฟูธุรกิจ ลืมตาอ้าปากได้โดยเร็ว เพราะถึงจะเปิดประเทศแล้ว แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะกลับไปได้ทันใจเหมือนก่อนโควิด 

 

ภาระหน้าที่ของรัฐ คือ "สนับสนุน" ไม่ใช่ "ซ้ำเติม" แล้วเอาไปโฆษณา อ้างบุญคุณ เวลาแถลงข่าวอวดผลงาน แถมระบบ SHA Plus ที่บังคับให้ทุกธุรกิจเปิดรับนักท่องเที่ยวต้องลงทะเบียน ยังล่มเอาเสียดื้อ ๆ เจ้าหน้าที่สารพัดก็เกิดขยัน ตรวจเช้า สาย บ่าย เย็น ไม่มี SHA Plus เปิดไม่ได้ 

 

เมื่อก่อนตอนระบาดหนัก ติดต่อหน่วยงานราชการก็อ้างว่า "ช่วงโควิด ไม่มีใครมาทำงาน work from home กันหมด รอไปก่อน" แต่ตอนนี้กลับฟิตจัด work from heart ตรวจแล้วตรวจอีกตอนคนเขาจะรีบทำมาหากิน หายาไส้ลูกเมีย เลี้ยงพนักงาน แค่เอาธุรกิจให้รอดยังลำบาก อย่าไปคิดหากำรี้กำไรเป็นกอบเป็นกำ เพราะมองเห็นอยู่แล้วว่าเป็นยังไง 

 

ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบรรดาผู้ประกอบการแต่อย่างใดเลย ต้องสไตล์ "ตัวใครตัวมัน" เหมือนเช่นเคย เพราะรัฐบาลไทยมักจะใช้นโยบาย "ให้เคี้ยว แต่ไม่ให้กิน ให้กิน แต่ไม่ให้กลืน" 

 

 

"ชูวิทย์" ระบุต่ออีกว่า ทำอะไรกั๊ก ๆ กล้า ๆ กลัว ๆ ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี สั่งอย่างเดียว ส่วนลูกน้องก็ได้แต่ทำตามระเบียบไม่ให้ตกหล่น ไม่มีวิจารณญาณตัดสินอะไรได้ แล้วแต่นโยบายเบื้องบน หาได้รู้ว่า ธุรกิจต่าง ๆ ที่ผ่านมา 2 ปีในช่วงโควิดต้องล่มสลาย ปิดตัว เจ๊ง ไปเท่าไหร่แล้ว? 

 

ตอนนี้ยังจะมาสร้างบรรยากาศอึมครึม เข้มงวดด้วยการประเคนกฎระเบียบยิบย่อยมากมายหลากหลายหน่วยงานที่ขยันออกตรวจตรา 

 

สงสารบรรดาธุรกิจที่หวังจะลืมตาอ้าปากในช่วงรัฐบาลประกาศ "เปิดประเทศ" แต่กลับต้องเจอมาตรการโหดสารพัด "ความไม่พร้อมแต่เสือกอยากเปิด" 

 

เมื่อให้เปิด ก็ควรให้การสนับสนุน แนะนำ ไม่ใช่ควบคุม บีบคั้น ทำไม่ได้ก็เปิดไม่ได้ ในเมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าภาพออกนโยบาย หากต้องการให้สำเร็จต้องมีคนที่เข้าใจทำงานครับท่าน ไม่ใช่เอาคนมาหากินบนความเดือดร้อนของประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ 

 

คนทำธุรกิจร้อยล้านพันล้าน บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับร้านค้าหรือโรงแรมขนาดเล็กได้ไง? เอาใจนายทุน แต่ไม่เห็นหัวชาวบ้าน

 

"ทำงานกันสะเปะสะปะ หน่วยงานนั้นว่าอย่าง อีกหน่วยงานไปอีกอย่าง" บางทีหน่วยงานหนึ่งบอกสั่งไปแล้ว แต่อีกหน่วยงานบอกไม่รู้เรื่อง 

 

การ "เปิดประเทศ" เพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้ลืมตาอ้าปากได้ มันน่าจะพร้อมกว่านี้ไหม? ไม่ใช่เปิดไป ช่วยตัวเองไป ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาเจ็บตัวอยู่แล้ว ก็เข้าใจได้ แต่พอให้เปิดกลับขาดการสนับสนุน มีแต่การควบคุม 

 

รายใหญ่รอด แต่รายกลางรายเล็กยังตายสนิทรับเปิดประเทศ ส่วนรัฐทำได้แค่ประคองเอาตัวรอด รอจังหวะจัดทัพแข่งขัน เอาหน้าม้ามาสับคนเห็นต่าง แล้วรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา จ้องกลับมาบริหารประเทศรอบต่อไป 

 

"ใครคิดล้มเป็นถูกไล่ล่า ไม่ให้ทำซ้ำสอง" แหม เรื่องแบบนี้คิดได้เป็นตุเป็นตะ แต่เรื่องบริหารประเทศ ไม่เห็นเด็ดขาดแบบนี้เลย 

 

ชูวิทย์ ฉะยับ \"เปิดประเทศ\" ให้เคี้ยว แต่ไม่ให้กลืน รายกลาง-รายเล็กตายสนิท

 

ที่มา ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์