รู้จัก "หน้ากากวาล์ว" ก่อน กพท. สั่งห้ามใส่เข้าสนามบินหวั่นแพร่เชื้อโควิด
รู้จัก "หน้ากากวาล์ว" กับคุณสมบัติที่ป้องกันเชื้อโรคเข้าแต่ไม่ป้องกันเชื้อโรคออก กพท.เล็งสกัดห้ามใส่เข้าสนามบินหวั่นแพร่เชื้อโควิด-19 ซ้ำสอง
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เตรียมลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-19 หลังจากที่มีการเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเที่ยวบินจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทางสนามบิน จึงได้มีการคุมเข้มนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดินทางโดยเครื่องบิน แต่มีอีกหนึ่งกรณีที่ กพท. ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมก็ คือ การสวมใส่ หน้ากากวาล์ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาควบคุม รวมทั้งจะไม่อนุญาตให้สวมใส่หน้ากากชนิดที่มีวาล์วเดินทางเข้ามาในสนามบิน ตามคำแนะนำของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยจะอนุญาตให้สวมใส่เฉพาะหน้ากากทางการแพทย์เท่านั้น
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอาจจะสร้างความสงสัยให้หลายคนว่าทำไม กพท. จึงเตรียมพิจารณาห้ามไม่ให้สวมใส่หน้ากากชนิดมีวาล์วเข้ามาภายในสนามบินทั้ง ๆ ที่หน้ากากชนิดดังกล่าวก็ดูมีความปลอดภัย วันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมคุณสมบัติ และการป้องกันเชื้อโรคของหน้ากากชนิดที่มีวาล์วมาให้
หน้ากากวาล์ว คุณสมบัติเด่นคือ สามารถป้องกันกรองอากาศจากภายนอกที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือมีฝุ่นขนาดเล็กขนาด 1 ไมครอน หรือ จะเป็นฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนก็ได้ ดังนั้น หน้ากากชนิดที่มีวาวล์วจึงสามารถป้องกันไวรัสและฝุ่น PM2.5 จากภายนอกได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากผู้สวมใส่กับบริเวณด้านนอกได้ โดยเฉพาะกรณีลมหายใจออก หรือเวลาที่ ไอ จาม จะมีละอองที่มีเชื้อโรคปะปนออกมา ดังนั้นผู้ที่สวมหน้ากากชนิดที่มีวาล์ว จึงมีโอกาสแพร่เชื้อโรคออกไปสู่ภายนอก กับบุคคลที่ใกล้ชิด ผ่านวาล์วของหน้ากากได้
สำหรับข้อแตกต่างระหว่าง หน้ากากชนิดมีวาล์ว และหน้ากากไม่มีวาล์ว
หน้ากากชนิดมีวาล์วและไม่มีวาล์ว จะมีประสิทธิภาพในการกรอง อนุภาพที่เท่ากัน แต่ชนิดที่มีวาล์วจะช่วยให้การหายใจออกสะดวก ดังนั้นหน้ากากชนิดมีวาล์วจึงไม่เหมาะที่จะใช้ในกรณีที่ผู้ใส่มี อาการผิดปกติทางเดินหายใจหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ
อย่างไรก็ตามหน้ากากวาล์วเป็นหน้ากากประเภทที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมหรืองานที่เกี่ยวข้องกับ ฝุ่นละออง ฟูมโลหะ สารเคมี แก๊ส หรือไอระเหย และอนุภาคประเภทที่มีพิษมาก และบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง อย่างไรก็ตามวาล์วระบายอากาศในหน้ากากกรองอากาศ ทำขึ้นมาเพื่อช่วยระบายความร้อนและความชื้นที่สะสมภายในหน้ากาก ทำให้ใส่หน้ากากได้นานขึ้น ไม่อึดอัด ตรงกลางของวาล์ว มักจะทำจากยางซิลิโคนแบบนุ่มมากที่สามารถ
เคลื่อนไหวได้โดยการหายใจ ซึ่งในขณะที่หายใจเข้าผนังยางซิลิโคนจะปิดอย่างแน่นหนาเพื่อไม่ให้อนุภาคไหลเข้าสู่หน้ากากได้ แต่เมื่อหายใจออกผนังยางซิลิโคนจะเปิดขึ้น เพื่อให้อากาศชื้นออกไป ดังนั้น ถ้าผู้ใส่ที่มีการไอ จาม อาจจะทำให้น้ำลายของผู้ใส่บางส่วนหลุดออกได้ และอาจจะมีเชื้อในอากาศเข้าไปได้ จึงไม่ให้ใช้ในห้องผ่าตัด หรือที่ที่มีความเสี่ยงสูง องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ไม่แนะนำหน้ากากกรองอากาศแบบมีวาล์วระบายอากาศ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องสัมผัสกับเชื้อโรค หรืองานผ่าตัด
ดังนั้นหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมแก่การสวมใส่ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อโควิด-19 มากที่สุดจึงควรหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เท่านั้น