เด่นโซเชียล

นักท่องราตรี ระวัง 3 กิจกรรมเสี่ยง ในร้านกิน-ดื่ม หลัง "เปิดประเทศ"

นักท่องราตรี ระวัง 3 กิจกรรมเสี่ยง ในร้านกิน-ดื่ม หลัง "เปิดประเทศ"

17 พ.ย. 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ คุมเข้ม กิน-ดื่มในร้านอาหาร ด้วยมาตรการ COVID Free Setting เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ หลัง "เปิดประเทศ"

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ คุมเข้ม กิน-ดื่มในร้านอาหาร ด้วยมาตรการ COVID Free Setting เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ หลัง "เปิดประเทศ"


 

​วันนี้ 17 พฤศจิกายน 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการแถลงข่าว  ณ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ว่า หลังจากที่รัฐบาล ได้เปิดเมือง เปิดประเทศ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งผ่อนปรนให้สถานประกอบกิจการ / กิจกรรม ดำเนินการได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

โดยเฉพาะการอนุญาตให้มีการจำหน่ายและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต้องคุมเข้มเป็นพิเศษ เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีโอกาสติดเขื้อโควิด-19 สูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 1 – 14 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 2,823 คน เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการปรับมาตรการให้สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ พบว่า ประชาชนเกือบร้อยละ 60 ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากยังมีความกังวลว่าจะเกิดการระบาดหรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ร้อยละ 86.6 และมากกว่าร้อยละ 50 ยังไม่มั่นใจในมาตรการป้องกัน และเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูง

 

ส่วนกลุ่มประชาชนที่เห็นด้วยกับการเปิด มีร้อยละ 43 เนื่องจากเห็นว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับพนักงานและเจ้าของร้าน โดยผลสำรวจผู้ที่เคยไปร้านอาหารที่มีการเปิดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สิ่งที่ร้านอาหารทำได้ดี คือ การจัดอุปกรณ์สำหรับบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แยกแต่ละบุคคล ทำได้ร้อยละ 65 มีการคัดกรองความเสี่ยงของพนักงานและลูกค้า ก่อนเข้ารับบริการ และมีระบบระบายอากาศที่ดี กว่าร้อยละ 50

 

ส่วนมาตรการที่พบต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ การงดกิจกรรม ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เว้นระยะห่าง การไม่รวมกลุ่มกันของพนักงาน และการสังเกตเห็นป้ายสัญลักษณ์ Thai Stop COVID Plus หรือ COVID Free Setting หรือ SHA หรือ SHA+ ​“นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 คิดว่ามาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ร้านอาหารที่เปิดให้บริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ควรมี คือ

1) ผ่านมาตรฐานรับรองของกระทรวงสาธารณสุข โดยแสดงป้ายรับรองชัดเจน                  

2) มีหลักฐานว่าพนักงานได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และมีการสุ่มตรวจคัดกรองเชื้อเป็นระยะ ๆ

3) ลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และมีการสุ่มตรวจคัดกรองเชื้อเป็นลบก่อนเข้ารับบริการ 

4) มีการสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ โดยเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ จากผลการประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากระบบ Thai Stop COVID 2 Plus ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม – 14 พฤศจิกายน 2564 เฉพาะร้านที่จำหน่ายและให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ภาพรวมทั้งประเทศ

 

โดยยังคงพบ 3 กิจกรรมเสี่ยงที่พบบ่อยในร้านอาหารและเครื่องดื่ม

ได้แก่

1) มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย และกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการหรือสถานบันเทิง

2) มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่มเกินกว่า  ที่กฎหมายกำหนด

 3) มีกิจกรรมเต้นรำ ตะโกนเสียงดัง ของพนักงานหรือผู้รับบริการ

 

จึงต้องขอความร่วมมือ ร้านที่จำหน่ายและให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านคุมเข้มและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการและป้องกันโรคโควิด-19 ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ทางด้าน นายแพทย์เกษม  เวชสุทธานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่กรมอนามัยได้ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสุ่มประเมินสถานประกอบกิจการร้านอาหารที่มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จำนวน 19 ร้าน จาก 25 ร้าน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

พบว่า มาตรการที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไขและเน้นย้ำ ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จัดพื้นที่ไม่ให้แออัด จัดเจลแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ การประเมิน ความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” และการกำกับ ติดตาม มาตรการส่วนบุคคล Universal Prevention

 

 

จากการลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10 – 15 พฤศจิกายน 2564 ในพื้นที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร พบไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 3 ร้าน โดยมีการฝ่าฝืนตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34(6) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่สั่งห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยปล่อยปละ ละเลย ให้ผู้ใช้บริการแออัด ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษตามมาตรา 51 คือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และได้ดำเนินการทางกฎหมายทันที

 

 

จึงขอเน้นย้ำประชาชนดื่มอย่างปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคมในส่วนของผู้ประกอบการ เน้นคุมเข้ม กิน ดื่ม ในร้านอาหารด้วยมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด
 

 

 

 

นักท่องราตรี ระวัง 3 กิจกรรมเสี่ยง ในร้านกิน-ดื่ม หลัง \"เปิดประเทศ\"