เด่นโซเชียล

เปิดประสิทธิภาพวัคซีน "ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง" ข้อดีที่มีมากกว่าประหยัด

เปิดประสิทธิภาพวัคซีน "ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง" ข้อดีที่มีมากกว่าประหยัด

19 พ.ย. 2564

หมอธีระวัฒน์โพสต์ "ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง" มีประสิทธิต่อต้านโควิดได้ทุกสายพันธุ์-ลดผลข้างเคียงจากกาแพ้วัคซีน สามารถฉีดให้ประชาชนได้ครอบคลุมกว่า 90%

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก  เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง โดยระบุว่า  ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคือการที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด

ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันยืนยันกันแล้วว่าต้องสามารถฉีดให้ได้ 90% ของคนในพื้นที่หรือในประเทศภายในระยะเวลาอันสั้น นั่นคือไม่เกินสามเดือนทั้งนี้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไวรัสมีการแพร่เป็นลูกโซ่ออกไปต่อ ซึ่งในระหว่างการแพร่นั้นจะมีการพัฒนาตนเองให้เก่งกาจมากขึ้น ทั้งในการติดง่ายซึ่งหมายถึงหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ตามธรรมชาติและดื้อต่อภูมิที่ได้จากวัคซีนและยังร่วมทั้งดื้อต่อภูมิที่ได้จากการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมาก่อนและทำให้อาการหนัก ตายมากขึ้น

โดยเห็นตัวอย่างมากมายแล้วว่าการติดเชื้อซ้ำครั้งที่สอง ยังเกิดได้ ตั้งแต่หนึ่งเดือนครึ่ง เป็นต้นไปและจะชัดเจนขึ้นตั้งแต่สามเดือนไปแล้ว แม้ว่าชื่อไวรัสยังคงเป็นยี่ห้อเดิมเช่นเดลต้า ถ้าเป็นเดลต้าที่มีทั้งไมเนอร์และเมเจอร์เชนจ์ แบบรถยนต์ที่ออกใหม่ที่มีเปลี่ยนไฟหลังไฟหน้าเบาะคอนโซลเป็นต้น นั้นเป็นผลจากการปล่อยให้มีการระบาดอย่างต่อเนื่องโดยควบคุมป้องกันไม่ทัน

จากการที่สามารถใช้วัคซีนปริมาณน้อย เลยทำให้สามารถเผื่อแผ่วัคซีนให้กับคนอื่นได้ทั่วถึง โดยที่วัคซีนแอสตร้านั้น หนึ่งโดสจะกลายเป็นห้า  โมเดนา จากหนึ่งจะกลายเป็น 10 และไฟเซอร์จากหนึ่งจะกลายเป็นสาม และวัคซีนเชื้อตายก็เช่นกัน

โดยที่จะเป็นการฉีดกระตุ้นเข็มที่สาม หรือแม้แต่จะเป็นการฉีดตั้งแต่เข็มที่หนึ่งก็ตาม ยกเว้นในกรณีของวัคซีนเชื้อตายถ้าจะใช้ควรใช้เป็นเข็มที่หนึ่งและสองไม่ควรใช้เป็นตัวกระตุ้นเข็มที่สามเนื่องจากไม่ได้มูลค่าเพิ่มหรือกำไรเพิ่มเพราะเชื้อตายนั้นมีประโยชน์เพื่อวางเป็นรากฐานและให้วัคซีนยี่ห้ออื่นต่อยอด 

ซึ่งการต่อยอดโดยยี่ห้ออื่นนี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันที่ตกลงอย่างรวดเร็วภายในสองเดือนหลังจากเข็มที่สองของเชื้อตายพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาสองสัปดาห์และอยู่ในระดับสูงมากของภูมิที่ยับยั้งไวรัสได้
และนอกจากนั้นยังสามารถ คลุมข้ามสายพันธุ์ดั้งเดิมคือสายจีนมาเป็นสายอังกฤษและเดลต้าได้

วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามนั้น เมื่อฉีดตามเข็มที่หนึ่งและสองของเชื้อตาย ถ้าใช้แอสตร้า จะป้องกันสายแอฟริกาไม่ได้ซึ่งอาจหมายรวมถึงสายเปรูด้วย 

ในขณะที่เข็มที่สามถ้าเป็นไฟเซอร์จะคุมสายแอฟริกาได้ด้วย แม้ว่าจะไม่ดีนักก็ตาม ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าวัคซีนโมเดน่า ควรจะมีประสิทธิภาพคล้ายกัน
สำหรับวัคซีนเข็มที่หนึ่งและที่สองในกรณีของเชื้อตายที่ทางการนำมาฉีดไขว้ คือชิโนแว็กต่อด้วยแอสตร้า ตามหลักแล้วจะไม่ค่อยได้กำไรหรือไม่ได้เลย

เพราะหลักการฉีดไขว้นั้น หมายความว่าวัคซีนชนิดนั้นเข็มเดียวต้องเริ่มได้ผลแล้วและยอมรับกันแล้วว่าเข็มแรกแอสตร้า ซึ่งก็ทำให้ภูมิขึ้นได้แล้วและต่อด้วยไฟเซอร์หรือโมเดนา ซึ่งเข็มเดียวก็ได้ผลบ้างอยู่แล้ว เมื่อนำมาฉีดต่อกันจะทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่ายี่ห้อเดี่ยวสองเข็ม
ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการคือในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก

ดังนั้นการกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นยังสามารถอธิบายได้จากการที่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้นกลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1
และสาย Th1 นี้เองที่เป็นขั้นตอนกระบวนการ ของโควิดที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจาก เม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล (กระบวนการ NETS สุขภาพพรรษา กลไกที่ทำให้เกิดเสมหะเหนียวขุ่นคลั่กและพังผืด) และต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันหรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย
รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm) 
ทั้งนี้เราทุกคนต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้นคือร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเองและส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อยรวมทั้ง 17 เป็นตัน
การฉีดเข้าชั้นผิวหนังเริ่มตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว โดยที่คณะของเราพยายามแก้ปัญหาที่ต้องการเลิกใช้วัคซีนเชื้อตายพิษสุนัขบ้าที่ทำจากสมองสัตว์และเกิดสมองอักเสบมากมาย แต่เมื่อจะใช้วัคซีนชนิดดีก็มีราคาแพงจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังและเริ่มใช้ที่สถานเสาวภาก่อนในปี 1987 และขยายไปใช้ทั่วประเทศและได้แสดงให้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันปาสเตอร์ของฝรั่งเศส จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐและสถาบันไวรัส เอสเสน ของเยอรมัน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญอื่นๆรับทราบและในที่สุดองค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้ทั่วโลกในปี 1991 จากนั้นมีการทบทวนและการติดตามความปลอดภัยและประโยชน์ที่ได้รับเป็นระยะ ทุก 4-5 ปี และจวบจนกระทั่งครั้งสุดท้ายมีการจัดประชุมขององค์การอนามัยโลกที่คณะแพทยศาสตร์จุฬา ในปี 2017 และออกคู่มือคำแนะนำในปี 2018 ก็ยังยืนยันการฉีดเข้าชั้นผิวหนังอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้โดยที่มีคณะทำงานอิสระภายใต้องค์การอนามัยโลกทำการประเมินและรายงานในปี 2018 เช่นกัน
ทั้งนี้ได้มีการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลทั่วโลกโดยยืนยันว่า คนที่ถูกหมากัดที่สงสัยหรือพิสูจน์ว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 30,000 รายรอดชีวิตทั้งหมด
การฉีดเข้าชั้นผิวหนังยังนำมาใช้ในทวีปแอฟริกากับวัคซีนไข้เหลืองและยังรวมไปจนถึงวัคซีนสมองอักเสบ JE วัคซีนตับอักเสบบี และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้อนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและสหรัฐ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้วิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเช่นกัน

มีผู้สงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมไม่เอาวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น
คำถามนี้เป็นคำถามตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว และเราก็ได้ทราบคำตอบจากบริษัทวัคซีนหลายแห่งว่าเพราะขายได้น้อยลง แต่เราก็ช่วยอธิบายว่าถ้าสามารถใช้ได้ทั่วทุกคนจำนวนที่ขายแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ลดลงและอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

คำถามที่ว่าการฉีดยุ่งยากแท้จริงแล้วเป็นการฉีดที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาลปฏิบัติกัน ด้วยความช่ำชองยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน บีซีจี ในเด็กแรกเกิด เป็นต้นและแม้แต่การฝึกการฉีดเพียง 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ฉีดเป็น โดยใช้กระบอกฉีดยาที่ใช้ฉีดในคนเป็นเบาหวานและใช้เข็มขนาดเล็กมาก

โดยประโยชน์ที่ได้รับและทำให้คนเข้าถึงได้ทุกคน เท่าเทียมกันในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีความปลอดภัยมากกว่า ทั้งนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คณะทำงานประสานทีมต่างๆของเราอันประกอบไปด้วย อาจารย์หมอเขตต์ ศรีประทักษ์สถาบันโรคทรวงอก อาจารย์หมอทยา กิติยากร โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์ด็อกเตอร์อนันต์ จงแก้ววัฒนา ไบโอเทค สวทช และหมอเองและคณะศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา

ได้ทำการทดสอบการฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดงหรือคันโดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัวปวดเมื่อยและอาการร้ายแรงอื่นๆไม่ปรากฏหรือน้อยมาก ซึ่งประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า