เด่นโซเชียล

น่าเป็นห่วง คนไทย "หนี้ครัวเรือน" และอัตรา "ว่างงาน" สูงสุดตั้งแต่มีโควิด

น่าเป็นห่วง คนไทย "หนี้ครัวเรือน" และอัตรา "ว่างงาน" สูงสุดตั้งแต่มีโควิด

22 พ.ย. 2564

สศช. ชี้ คนไทย หนี้ครัวเรือน-บัตรเครดิตพุ่ง เหตุโควิดระบาดหนัก ทำเศรษฐกิจแย่ น้ำท่วมซ้ำเติม เผยอัตรา "ว่างงาน" ไตรมาส 3 สูงสุดตั้งแต่เข้าสู่ยุคโควิด

สศช. ชี้ คนไทย หนี้ครัวเรือน-บัตรเครดิตพุ่ง เหตุโควิดระบาดหนัก ทำเศรษฐกิจแย่ น้ำท่วมซ้ำเติม เผยอัตรา "ว่างงาน" ไตรมาส 3 สูงสุดตั้งแต่เข้าสู่ยุคโควิด

 

 

วันนี้ 22 พ.ย.64 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส3 ปี 2564 ว่าสำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 3 ปี 2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูง ที่สุดตั้งแต่มีโควิด -19 โดยการจ้างงานเห็นว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ผู้มีงานทำมีอยู่ประมาณ 37.7 ล้านคนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.6%

โดยเป็นการลดลงในส่วนของการจ้างงานนอกภาคเกษตร แต่สำหรับภาคเกษตรยังขยายตัวได้เนื่องจากเป็นฤดูเพาะปลูก ส่วนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรโดยรวมลดลง 1.3% หากดูในรายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในส่วนของการผลิตยังมีการขยายตัวของการจ้างงานประมาณ 2.1%

 

 

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งอาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ แต่การก่อสร้างและโรงแรมปรับตัวลดลง เพราะในช่วงที่ผ่านมายังมีปัญหาจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาสที่ 3ที่เข้มงวดทำให้การจ้างงานในเซกเตอร์ดังกล่าวลดลงค่อนข้างมาก

 

 

ขณะเดียวกันหากพิจารณาในส่วนของชั่วโมงการทำงานเห็นว่าชั่วโมงการทำงานในไตรมาสที่ 3 เฉลี่ยลดลงเหลือ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งลดลงจากชั่วเวลาปกติอย่างมาก เป็นผลจากมาตรการการควบคุมโรคระบาด ส่วนผู้ว่างงานชั่วคราวมีอยู่ 9 แสนคน แบ่งเป็นไม่ได้รับค่าจ้าง 7.8 แสนคน ได้รับค่าจ้าง 1.2 แสนคน

 

โดยในส่วนที่ไม่ได้รับค่าจ้างถ้าอยู่ในระบบประกันสังคมก็จะได้ชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคม ซึ่งการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ถือว่าเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด -19 ที่ค่อนข้างรุนแรง และมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด

 

อย่างไรก็ตามยังพบว่าผู้ว่างงาน 3% เป็นกลุ่มที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และวิชาชีพขั้นสูงและหากแบ่งเป็นกลุ่มอายุ พบว่า อายุ 15-19 ปี ว่างงาน 9.7% กลุ่มอายุ 20-24 ปี ว่างงาน 8.3% หรือมีประมาณ 2.5 แสนคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่

ส่วนผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม มีอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2.4% โดยประเด็นที่ต้องจับตามองในระยะต่อไปคือเรื่องของการผ่อนคลายมาตรการที่ค่อนข้างมาก การเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ดังนั้นต้องติดตามเรื่องการควบคุมการระบาดของโรค การป้องกันการแพร่ระบาดซึ่งต้องยังเข้มอยู่ ซึ่งประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการใช้มาตรการต่าง ๆอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการระบาดขนาดใหญ่อีก

 

 

ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กในส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่อาจยังไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศในขณะนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐก็มีหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดังนั้นก็ขอให้มาลงทะเบียนกับกรมการจัดหางานเพื่อจะได้รับเงินทุนเพื่อนำไปพยุงสภาพคล่องต่อไป และภาครัฐต้องมีโครงการช่วยเหลือด้านการจ้างงานให้มากขึ้นซึ่งจะดำเนินการผ่านพรบ.เงินกู้ ที่ยังดำเนินการอยู่

 

 

ส่วนผลกระทบจากน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้ภาคการเกษตรเสียหาย รวมทั้งบ้านเรือน ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ได้มีงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ และต้องสำรวจเพิ่มเติมว่าประชาชนต้องการความช่วยเหลือในส่วนนี้หรือไม่ ปัญหาน้ำมันปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรลล์ มีผลทำให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น ดังนั้นภาครัฐต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมด้วย

 

 

อย่างไรก็ดีโครงการของรัฐที่เป็นบัตรสวัสดิการหรือที่มีการเติมเงินให้กับประชาชนนำไปใช้จ่ายนั้นก็ยังดำเนินการต่อไป แต่หากน้ำมันราคายังสูงขึ้นต่อไปภาครัฐก็ต้องพิจารณาว่าจะมีมาตรการใดออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะกระทรวงพลังงานก็ได้บริหารจัดการอย่างเต็มที่แล้วเช่นกัน

 

 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาในกลุ่มผู้ว่างงานเป็นเวลายาวนานซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่อีกครั้งเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้งโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งโครงการต่าง ๆของภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมให้มากขึ้น เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นในเวลาที่มีปัญหาต้องได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยขณะนี้มีถึง 10.4 ล้านคน จากเดิมในไตรมาส 2 ที่มี 3.6 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่าง ๆของรัฐที่ได้ดำเนินการไป ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา

 

 

ในส่วนของหนี้สินครัวเรือน ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ที่ขยายตัว 5% จาก 4.7% ในไตรมาสก่อนถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) อยู่ที่ 89.3% ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1 ของปีนี้ มีสาเหตุมาจากจีดีพีขยายตัว แต่ยังต้องจับตาดูในเรื่องของการขยายตัวของปริมาณหนี้ครัวเรือน หากดูการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสยังอยู่ในอัตราที่สูง

 

 

โดยในไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 0.7% ส่วนมูลหนี้ขณะนี้เป็นอันตรายไหมหรือไม่อย่างไรต้องจับตาดูต่อไป ทั้งคุณภาพสินเชื่อมากขึ้นเพราะหากดูการเพิ่มขึ้นของมูลหนี้สินของครัวเรือน เห็นว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การนำมาประกอบธุรกิจ

 

 

ขณะที่หนี้สินอื่นยังคงตัวอยู่แต่คุณภาพสินเชื่อก็ยังทรงตัวอยู่ประมาณ 2.9% เป็นเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเท่ากับไตรมาสที่แล้ว แต่ต้องจับตามองหนี้สินบัตรเครดิตที่มีปริมาณหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 3.0% เป็น 3.5% เป็นสัญญาณว่าต้องเข้าไปดูแลให้มากขึ้น

 

 

โดยมีสาเหตุจากการระบาดของโควิด เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ และยังมีน้ำท่วมซ้ำเติมอีก จึงมีการก่อหนี้เพื่อนำเงินมาซ่อมแซมบ้านเรือน ซื้อข้าวของเครื่องใช้ใหม่ ดังนั้นต้องดูแลติดตามคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตที่เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสียเพิ่มขึ้นและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องเร่งประชาสัมพันธ์แก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งหนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือน หนี้สินภาคธุรกิจให้มากขึ้น

 

 

โดยหนี้นอกระบบครึ่งปีนี้ พบว่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจาก 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 เป็น 8.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งต้องดูแลว่าจะนำหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้อย่างไรเพื่อป้องกันการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ส่วนเรื่องของสุขภาพและการเจ็บป่วย โรคเฝ้าระวัง พบว่า โดยรวมลดลง แต่โรคเฝ้าระวังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่าในช่วงปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.37 รายต่อประชาชน 1 แสนคนจากที่เคยทรงๆตัวในช่วงที่ผ่านมา

 

 

ส่วนหนึ่งมาจากความเครียดของโรคระบาดและเศรษฐกิจ เมื่อมีการเปิดประเทศ ดูแลการจ้างงานเพิ่มเติม ปัญหานี้ก็น่าจะลดลง ส่วนกลุ่มที่เคยติดเชื้อโควิดที่อาการยังหลงเหลืออยู่โดยประสิทธิภาพของปอดลดลงต้องมีการดูแลคนกลุ่มนี้มากขึ้น

 

 

ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภาพรวมลดลงแต่ต้องจับตาว่าหลังเปิดประเทศมีลักลอบนำเข้าหรือไม่ ต้องจับตาดูอย่างจริงจัง ส่วนด้านความมั่นคงในส่วนของคดีอาญานั้นเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะคดียาเสพติด ประทุษร้ายต่อทรัพย์ แต่อุบัติเหตุต่าง ๆก็ลดลงอย่างมาก ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังเป็นเรื่องเดิมยังเป็นการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกสทช.