"ปั๊มลูก" กันเถอะ ชวนคนไทยท้าทายด้านประชากร ปีนี้เด็กเกิดน้อยต่ำกว่า 6 แสน
สธ. ชวนคนไทย "ปั๊มลูก" หลังเด็กเกิดใหม่ปีนี้ ต่ำกว่า 6 แสน ชู ปรับ - เปลี่ยน - ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน Smart Family Planning เพื่อให้คนไทยมีลูกมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
ชวนคนไทย "ปั๊มลูก" จากการที่ไทยกำลังประสบความท้าทายด้านประชากร โดยในด้านโครงสร้างนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2580 สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมไทยจะมีจำนวนราวร้อยละ 30 ของประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ต่ำกว่าระดับทดแทนมาเป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลให้จำนวนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง
และใน ปี 2563 ที่ผ่านมา ก็พบว่ามีจำนวนการเกิดรวมเพียง 587,368 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดรายปีที่ต่ำกว่า 600,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นด้านคุณภาพประชากรก็เป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นด้านโครงสร้างประชากร โดยสถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานประกาศวิสัยทัศน์แห่งความร่วมมือเพื่อ ปรับ - เปลี่ยน - ปั้น ฐานประชากร สู่สังคมแห่งความยั่งยืน ในโครงการ Smart Family Planning เพื่อให้คนไทยมีลูกมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
จากการประชุมระดับนโยบาย สามารถสรุปประเด็นการปฏิบัติงานที่สำคัญที่สุดต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ 4 ประเด็น ดังนี้
- การพัฒนาระบบการศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก
- การกำหนดเจ้าภาพหลักที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบาย และการส่งเสริมเอกภาพของการทำงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
- การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และมีการเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สังคม และสุขภาพมากยิ่ง ทั้งในแง่ของความทั่วถึงและค่าใช้จ่าย
- การนำกรอบความคิดแบบเส้นทางชีวิต (life course) มาใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตหลากหลายขั้น (multi-life stage) และไม่จำกัดแต่เพียงเส้นทางชีวิตที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานครอบครัวแบบดั้งเดิม (traditional family) เท่านั้น
นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากความท้าทายและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อัตราการเกิดที่ลดลง อัตราการตายที่เพิ่มขึ้นและความกังวลต่อคุณภาพชีวิต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ต้องเร่งส่งเสริมโครงการสร้างครอบครัวคุณภาพ จากการวางแผนครอบครัวอย่างชาญฉลาดและการส่งเสริมด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการส่งเสริมอัตราการเกิดภายในประเทศ โดยต้องคำนึงถึงทั้งในแง่ของโครงสร้างประชากรและคุณภาพของประชากรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน