เด่นโซเชียล

"โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ หมอเฉลิมชัย โพสต์น่าห่วง มากกว่าเดลตา 3.5 เท่า

"โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ หมอเฉลิมชัย โพสต์น่าห่วง มากกว่าเดลตา 3.5 เท่า

28 พ.ย. 2564

"โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ omicron บี.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลตาถึง 3.5 เท่า หมอเฉลิมชัย โพสต์รายละเอียดน่าห่วง จำเป็นต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

เกาะติด "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ omicron บี.1.1.529 ล่าสุด นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่าน blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” ระบุว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ B.1.1.529 ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงสูงสุด หรือ กลุ่มน่ากังวล (VOC : Variant of Concern) และ ตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตา กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลตาถึง 3.5 เท่า

 

 

 

 

รายละเอียดที่ควรสนใจเกี่ยวกับไวรัส "โอไมครอน" ตัวนี้ ประกอบด้วย

 

  1. ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ง่ายเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว อาร์เอ็นเอ (RNA)
  2. ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่า มีไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว มากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย
  3. ไวรัสมีสารพันธุกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 30,000 ตำแหน่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงตำแหน่งเดียว ก็เรียกว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์ได้แล้ว
  4. องค์การอนามัยโลกได้จัดกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ เรียงตามลำดับความรุนแรง ได้แก่

 

  • ไวรัสที่น่ากังวล (VOC) ประกอบด้วย สายพันธุ์อัลฟา หรือ อังกฤษเดิม , สายพันธุ์เบตา หรือ แอฟริกาใต้เดิม , สายพันธุ์แกมมา หรือ บราซิลเดิม , สายพันธุ์เดลตา หรือ อินเดียเดิม และได้ประกาศสายพันธุ์ที่ 5 คือ โอไมครอน ของแอฟริกาใต้

 

 

โอไมครอน, โควิดสายพันธุ์ใหม่, omicron, บี.1.1.529, โควิดโอไมครอน, B.1.1.529, เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

 

 

  • ไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ (VOI : Variant of Interest) มีสองสายพันธุ์ ได้แก่ แลมป์ดา และ มิว

 

 

โอไมครอน, โควิดสายพันธุ์ใหม่, omicron, บี.1.1.529, โควิดโอไมครอน, B.1.1.529, เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

 

 

  • ไวรัสที่ควรติดตาม (VUM : Variant Under Monitoring) มีทั้งหมด 7 ตัว

 

 

โอไมครอน, โควิดสายพันธุ์ใหม่, omicron, บี.1.1.529, โควิดโอไมครอน, B.1.1.529, เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

 

 

  • การจัดกลุ่มไวรัสดังกล่าวใช้องค์ประกอบ ดังนี้

 

  1. สารพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นของ การแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วมากขึ้น , ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น , ความสามารถในการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนมีมากขึ้น
  2. มีการแพร่ระบาดในชุมชน หรือเกิดเป็นคลัสเตอร์ในหลากหลายประเทศ

 

 

 

 

  • ไวรัสโอไมครอน มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมมากที่สุด เท่าที่เคยมีการกลายพันธุ์มาคือ มากกว่า 50 ตำแหน่ง และที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงในส่วนหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ มากถึง 32 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนาม มากกว่าไวรัสเดลตาถึง 3.5 เท่า

 

  • ไวรัสโอไมครอนพบเป็นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ตามด้วยประเทศบอตสวานา และอีกหลายประเทศในแอฟริกาใต้ เช่น นามิเบีย ซิมบับเว เลโซโท เอสวาตีนี มาลาวี อังโกลา โมซัมบิก และ แซมเบีย

 

  • ขณะนี้มีการแพร่ระบาดออกไปนอกทวีปแอฟริกาใต้แล้ว ได้แก่ ในทวีปยุโรปคือ อังกฤษพบผู้ป่วยสองราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ และเบลเยี่ยม ฮ่องกงพบ 1 ราย ก็เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้เช่นกัน นอกจากนั้นยังพบในประเทศอิสราเอลด้วย การตรวจพบผู้ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีการกักตัว

 

 

  • เหตุที่ในประเทศแอฟริกาใต้ มีการกลายพันธุ์ของไวรัสบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนได้จำนวนน้อย จึงมีการระบาดของโรคมาก และไวรัสเพิ่มจำนวนบ่อย จึงกลายพันธุ์ได้มากกว่า
  • ขณะนี้ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศให้ 10 ประเทศในแอฟริกาห้ามเดินทางเข้าอังกฤษ และคนอังกฤษที่มาจากประเทศดังกล่าวจะถูกกักตัวอย่างน้อย 10 วัน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์
  • ส่วนของประเทศไทย ได้ประกาศห้ามพลเมืองจาก 8 ประเทศในแอฟริกา เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564 และคนไทยที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว จะต้องถูกกักตัว 14 วัน

 

 

  • สำหรับ "โอไมครอน" โควิดสายพันธุ์ใหม่ omicron บี.1.1.529 จำเป็นต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามรายงานการศึกษาซึ่งจะมีเพิ่มเติมว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน จะมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตามากน้อยอย่างไร รวมทั้งมีอาการโรคที่จะรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประการสำคัญที่สุดคือ จะดื้อต่อวัคซีนหรือไม่

 

  • ถ้าโชคดี การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งส่วนหนามของไวรัสดังกล่าว ทำให้ติดเชื้อแพร่ระบาดน้อยลง มีอาการรุนแรงน้อยลง และวัคซีนป้องกันได้ ก็จะโล่งอกกันไป
  • แต่ถ้าโชคไม่ดี การกลายพันธุ์ในส่วนหนามครั้งนี้ ทำให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วมากขึ้น อาการของโรครุนแรงและเสียชีวิตสูง และดื้อต่อวัคซีนด้วยแล้ว
  • ก็จะเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหม่อีกระลอกหนึ่งทั่วโลก ซึ่งจะกระทบกับประเทศต่าง ๆ อย่างรุนแรง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

 

 

"แม้จะมีบางบริษัทออกมาประกาศว่า สามารถที่จะผลิตพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับโอไมครอนได้ใน 6 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่าจะทำได้รวดเร็วภายในเวลาดังกล่าว" นายแพทย์ เฉลิมชัย ทิ้งท้าย

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย