"กล่องสุ่ม" ไม่รอด สคบ.ประกาศเอาจริง เตรียมออกกฎหมายคุมคุ้มครองผู้บริโภค
"กล่องสุ่ม" คราวนี้ไม่รอด เพราะ สำนักงานคุ้มครองบริโภค (สคบ.) ยืนยัน ครั้งนี้เอาจริง ประกาศ เตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้ม ชี้ผิดกฎหมายการพนัน
"กล่องสุ่ม" สะเทือนทุกวงการ หลังจากเป็นกระแสนิยมบนช่องทางออนไลน์ ล่าสุด ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศเอาจริง เตรียมจัดการให้อยู่หมัด ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์, วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการโฆษณา "กล่องสุ่ม" ชี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายการพนัน-สิทธิผู้บริโภค, ซื้อของไม่เห็นสินค้า หวั่นคนเลียนแบบหลอกเอาเงิน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา เผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของ สคบ. เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง เพื่อมาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบัน กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่องทางออนไลน์ และมักมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งเน็ตไอดอล, ยูทูบเปอร์ หรือดารานักร้องมารีวิว และโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์, วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม
ทั้งนี้ สคบ. มองว่า ปัญหาสำคัญสำหรับการโฆษณาหรือจำหน่าย "กล่องสุ่ม" มี 2 ประเด็นหลัก
- อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากไม่ได้ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ
- เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะ การระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง หรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ
ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานต้องรู้ว่าสินค้านั้นมีอะไรก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ แต่การเอาของมาใส่ในกล่องโดยไม่มีข้อมูลเป็น "กล่องสุ่ม" บางทีผู้โฆษณาสินค้าอาจบอกว่ากล่องนี้เอาโทรศัพท์ไอโฟนมาเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีกล่องสุ่ม 400-500 กล่อง แต่มีไอโฟนแค่กล่องเดียวอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการพิจารณากฎหมายมาควบคุมนั้น สคบ.จะพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด, รีวิว ควรจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง และเท่าทันกับยุคดิจิทัลด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สคบ. เคยแจ้งเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา เพราะ เห็นว่าการนำสินค้าดังกล่าวมาขายให้ผู้บริโภคในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับสินค้า หรืออาจได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ซึ่งการกระทำการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงด้วย
ดังนั้น จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค หรือผู้ปกครองได้รับทราบ หากเห็นบุตรหลานของตัวเองมีการซื้อของดังกล่าวก็ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง เพราะ อาจจะทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ อย่างในกรณีล่าสุดมีการขายกล่องสุ่มราคาเป็นหลักแสนบาท และมียอดขายเป็นหลัก 100 ล้านบาทในช่วงเวลาแค่เวลาไม่กี่นาที และอาจนำไปสู่การลอกเลียนแบบจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น