เด่นโซเชียล

"กล่องสุ่ม" ไม่รอด สคบ.ประกาศเอาจริง เตรียมออกกฎหมายคุมคุ้มครองผู้บริโภค

"กล่องสุ่ม" ไม่รอด สคบ.ประกาศเอาจริง เตรียมออกกฎหมายคุมคุ้มครองผู้บริโภค

11 ธ.ค. 2564

"กล่องสุ่ม" คราวนี้ไม่รอด เพราะ สำนักงานคุ้มครองบริโภค (สคบ.) ยืนยัน ครั้งนี้เอาจริง ประกาศ เตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้ม ชี้ผิดกฎหมายการพนัน

 

"กล่องสุ่ม" สะเทือนทุกวงการ หลังจากเป็นกระแสนิยมบนช่องทางออนไลน์ ล่าสุด ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศเอาจริง เตรียมจัดการให้อยู่หมัด ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์, วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการโฆษณา "กล่องสุ่ม" ชี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายการพนัน-สิทธิผู้บริโภค, ซื้อของไม่เห็นสินค้า หวั่นคนเลียนแบบหลอกเอาเงิน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

 

รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา เผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของ สคบ. เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง เพื่อมาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบัน กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่องทางออนไลน์ และมักมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งเน็ตไอดอล, ยูทูบเปอร์ หรือดารานักร้องมารีวิว และโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์, วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม

 

 

 

 

ทั้งนี้ สคบ. มองว่า ปัญหาสำคัญสำหรับการโฆษณาหรือจำหน่าย "กล่องสุ่ม" มี 2 ประเด็นหลัก

  • อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน ที่ดูแลโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หากไม่ได้ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ
  • เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะ การระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง หรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ

 

ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานต้องรู้ว่าสินค้านั้นมีอะไรก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ แต่การเอาของมาใส่ในกล่องโดยไม่มีข้อมูลเป็น "กล่องสุ่ม" บางทีผู้โฆษณาสินค้าอาจบอกว่ากล่องนี้เอาโทรศัพท์ไอโฟนมาเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีกล่องสุ่ม 400-500 กล่อง แต่มีไอโฟนแค่กล่องเดียวอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการพิจารณากฎหมายมาควบคุมนั้น สคบ.จะพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด, รีวิว ควรจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง และเท่าทันกับยุคดิจิทัลด้วย

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สคบ. เคยแจ้งเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา  เพราะ เห็นว่าการนำสินค้าดังกล่าวมาขายให้ผู้บริโภคในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับสินค้า หรืออาจได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ซึ่งการกระทำการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงด้วย

 

ดังนั้น จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค หรือผู้ปกครองได้รับทราบ หากเห็นบุตรหลานของตัวเองมีการซื้อของดังกล่าวก็ต้องแจ้งเตือนให้ระวัง เพราะ อาจจะทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ อย่างในกรณีล่าสุดมีการขายกล่องสุ่มราคาเป็นหลักแสนบาท และมียอดขายเป็นหลัก 100 ล้านบาทในช่วงเวลาแค่เวลาไม่กี่นาที และอาจนำไปสู่การลอกเลียนแบบจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น