เด่นโซเชียล

"รถยนต์ไฟฟ้า" แบรนด์จีน รุกหนักตลาดไทย หวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในวงการ

"รถยนต์ไฟฟ้า" แบรนด์จีน รุกหนักตลาดไทย หวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในวงการ

08 ธ.ค. 2564

"รถยนต์ไฟฟ้า" ผู้ผลิตรายใหญ่รถยนต์ในจีน เล็งขึ้นแท่นผู้นำตลาดในไทย ท่ามกลางกระแสรักษ์โลก และการแข่งขันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

 

"รถยนต์ไฟฟ้า" ด้วยกระแสลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ทั่วโลก และความมุ่งมั่นในการทยอยเลิกใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลในไทย จึงทำให้กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน เล็งเจาะตลาดรถยนต์ในไทย ผ่านนวัตกรรม "รถยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 

 

ในงาน Thailand International Motor Expo 2021 บริษัท เอสเอไอซี (SAIC) หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้เปิดตัว MG Cyberster รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด เพื่อเสริมทัพ "รถยนต์ไฟฟ้า" ของบริษัท โดยรถยนต์รุ่นนี้มีกำหนดส่งมอบในปี 2023 ทั้งนี้ เอสเอไอซี ประเทศไทย ระบุว่า ทางบริษัทนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น ได้แก่

  • MG ZS EV
  • MG EP 

ซึ่งเปิดตัวในปี 2019 และครองสัดส่วนในตลาดราวร้อยละ 90 ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

 

ทั้งนี้ ประธานบริษัท SAIC Motor-CP Co. Ltd. และ MG Sales (Thailand) Co. Ltd จาง ไห่ โป หวังว่า ผู้ผลิต "รถยนต์ไฟฟ้า" ของจีน จะสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการ "รถยนต์ไฟฟ้า" ในไทย และสามารถสู้กับผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้

 

 

 

 

สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยหวังว่า จะสามารถผลิต "รถยนต์ไฟฟ้า" ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน อย่าง SAIC และ GWM ซึ่งดำเนินธุรกิจในไทยอยู่แล้ว ให้เริ่มนำร่องในการนำเข้ารถยนต์เพื่อดูกระแสตอบรับ และคาดว่าจะเริ่มการผลิต เมื่อมีความต้องการในตลาดมากเพียงพอ

 

ทั้งนี้ ประธาน GWM อาเซียน และประเทศไทย จาง เจีย หมิง กล่าวว่า GWM วางแผนเปิดตัว "รถยนต์ไฟฟ้า" และแบบไฮบริด จำนวน 9 รุ่น ภายในระยะ 3 ปี และสร้าง Supply Chain ในท้องถิ่น สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว

 

เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา GWM ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่น Good Cat ภายใต้แบรนด์ลูกอย่าง ORA  ซึ่งมียอดสั่งจองล่วงหน้าเกือบ 2,000 รายการ ด้านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย เกวลิน หวังพิชญสุข กล่าวว่า

 

ปัจจุบัน ผู้บริโภคในไทย หันมาใช้ "รถยนต์ไฟฟ้า" มากขึ้นตามกระแสโลก โดยคาดว่า ความต้องการ "รถยนต์ไฟฟ้า" จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน Mass Market ภายในปี 2030 อย่างไรก็ดี ตลาด "รถยนต์ไฟฟ้า" นำเข้าของไทย ยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก ราคาที่สูงกว่าและข้อกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของสถานีชาร์จพลังงาน

 

 

 

 

ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนสามารถส่งออก "รถยนต์ไฟฟ้า" แบบปลอดภาษีมายังไทยได้ ซึ่งช่วยสนับสนุนการแข่งขันด้านราคาของ "รถยนต์ไฟฟ้า" สัญชาติจีน และเมื่อตลาด "รถยนต์ไฟฟ้า" ในไทยมีขนาดใหญ่พอสมควร ก็ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งจีนและต่างประเทศหันมาตั้งสายการผลิต "รถยนต์ไฟฟ้า" ในไทยได้

 

หากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นต้องการรักษากลุ่มผู้บริโภคไว้ อาจต้องเพิ่มการลงทุนด้าน "รถยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นในไทย ยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลและรถยนต์ไฮบริด

 

และเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ "รถยนต์ไฟฟ้า" SAIC และ GWM จึงร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ ของไทย เพื่อติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มทั่วประเทศ และยังช่วยให้ทั้งสองแบรนด์เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคอีกด้วย