เช็คด่วน "เยียวยา 100 เท่า" ตกงานช่วงโควิด ปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์เดิม
เช็คด่วนที่นี่ ตกงานช่วงโควิด "เยียวยา 100 เท่า" ปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ เงินเยียวยา กับ เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ต่างกันหรือไม่ กระทรวงแรงงานชี้แจงอนุมัติยังไง
"เยียวยา 100 เท่า" ตกงานช่วงโควิด-19 ปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ประเด็นโพสต์ร้อนว่อนเน็ต "เช็คด่วน จ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ตกงานสูงสุด 100 เท่า กระทรวงแรงงานอนุมัติเงินเยียวยาสำหรับผู้ตกงานช่วง โควิด-19" จริงแค่ไหนนั้นมีคำตอบมาให้แล้ว ล่าสุด กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวและชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวใช้ข้อความพาดหัวข่าวที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อน ระหว่าง เงินเยียวยา กับ เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีนายจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จนต้องปิดกิจการและไม่สามารถจ่าย ค่าชดเชย ได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กระทรวงแรงงาน ระบุถึง "เยียวยา 100 เท่า" ดังกล่าวข้างต้น ว่า มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หลังสถานประกอบกิจการปิดดำเนินการ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ โควิด-19 นั้น กระทรวงแรงงานออกระเบียบเพิ่มอัตราและระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้าง มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2565 มติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของ โควิด-19 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ. 2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ดังนี้
- กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับ เงินสงเคราะห์ จากอัตราเดิม คือ “จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และจาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป”
- กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับ เงินสงเคราะห์ จากอัตราเดิม คือ “60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564
บทสรุปของเรื่อง "เยียวยา 100 เท่า" นี้คือ : ไม่ใช่เงินเยียวยาสำหรับผู้ตกงานช่วง โควิด-19 แต่เป็น อนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีนายจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จนต้องปิดกิจการและไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน