"รถไฟฟ้าสายสีม่วง" คุ้มไหม ทางขึ้นลงแลกกับประวัติศาสตร์เก่าอันทรงคุณค่า
เกิดคำถาม "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" ทางขึ้นลง ต้องรื้อตึกเก่าอายุกว่า 80 ปี บนถนนพระสุเมรุ ตึกเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน กลางปี 2565 ผู้ว่า กทม. ช่วยรักษาประวัติศาสตร์เก่าอันทรงคุณค่าไว้จะได้ไหม
ชวนเกาะติด "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" คืบหน้าล่าสุดมีข่าวว่าต้องรื้อตึกเก่าอายุกว่า 80 ปี บนถนนพระสุเมรุ ตึกเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กลางปี 2565 เพื่อเป็นทางขึ้นลง งานนี้ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร โพสต์ Rosana Tositrakul ตั้งคำถาม ตึกเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน จะถูกรื้อเป็นทางขึ้นรถไฟฟ้า ผู้ว่า กทม. ช่วยรักษาไว้จะได้ไหม
สำหรับทางขึ้นลงของ "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" ต้องรื้อตึกเก่า นั้น นางสาวรสนา โพสต์ระบุว่า กลุ่มตึกแถวมีรูปแบบก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปเเบบอิทธิพลตะวันตก และถูกระบุเป็นอาคารที่มีคุณค่าในแผนที่ชุมชนรัตนโกสินทร์ 2547 (ข้อมูลจาก สำนักนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักผังเมือง) ตึกแถวเก่าบนถนนพระสุเมรุ เป็นมรดกสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า มีความเป็นโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน และพื้นที่ยังคงความสงบเงียบ ในขณะที่อยู่บนเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปรากฏอยู่ในงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท นางสาววรรณิภา งามสมสรี ในหัวข้อ “บทบาทของผู้ถือครองทรัพย์สินต่อกระบวนการวางแผนการอนุรักษ์ มรดกสถาปัตยกรรมประเภทตึกแถวบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ต่อเนื่องฝั่งตะวันออก” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางสาวรสนา ยังโพสต์ระบุ ทางขึ้นลงของ "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" ถ้ามาจากด้านถนนพระอาทิตย์ จะเห็นตึกแถวเก่าทั้ง 2 ชุดนี้เรียงรายรับสายตาอยู่พอดี เพราะเป็นช่วงโค้งของถนน เป็นทัศนียภาพที่สวยงาม ถ้าหายไปครึ่งหนึ่งบรรยากาศก็จะขาดความต่อเนื่อง เพราะถนนพระสุเมรุนี้เชื่อมต่อมาจากย่านถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระอาทิตย์ และนำไปสู่ป้อมมหากาฬและภูเขาทอง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ยังคงสวยงามและถ่ายทอดวัฒนธรรมของเมืองเก่าอยู่ ตึกแถวเก่า 2 ชุดนี้เป็นแนวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบริเวณนี้ เพราะรอบด้านเป็นอาคารใหม่ไปเกือบหมดแล้ว
"ดิฉันอดเสียดายไม่ได้ และเห็นว่า ผู้ว่า กทม. ควรรักษาตึกเก่าดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่ย่านตึกเก่าสำหรับการท่องเที่ยว เป็นถนนคนเดิน โดยที่จุดที่ตั้งของตึกแถวดังกล่าวอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุที่เชื่อมต่อมายังถนนผ่านฟ้าลีลาศ และเชื่อมต่อมาที่คลองโอ่งอ่างที่ กทม. ได้ลงทุนปรับปรุงไว้งดงามอยู่แล้วสำหรับการท่องเที่ยว หาก กทม. จะจัดสรรงบสักจำนวนสำหรับรักษาอาคารเก่าชุดนี้ไว้เพื่อปรับปรุงให้เป็นร้านค้าในอนาคตสำหรับการท่องเที่ยวบนถนนสายนี้ ก็จะเป็นการเสริมคุณค่าให้กับพื้นที่บริเวณนี้"
ตึกแถวดังกล่าวมีทั้งหมด 14 คูหา แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดละ 7 คูหาเรียงต่อกัน ทั้ง 2 ชุดถูกคั่นด้วยซอยเล็ก ๆ ส่วนของชุดทางด้านขวาจะเป็นจุดที่จะโดนรื้อถอนและเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าแทน ซึ่งจะทำให้อาคารเก่าที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้ต้องหายไปครึ่งหนึ่ง
ทางขึ้นลงของ "รถไฟฟ้าสายสีม่วง" มีการกำหนดไว้ 4 จุด
- จุดที่ 1 อยู่ตรงด้านหน้าหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ธ.กรุงเทพ ตรงสี่แยกผ่านฟ้า
- จุดที่ 2 คือบริเวณภัตตาคารผ่านฟ้า อยู่ฝั่งตรงข้ามลึกเข้ามาทางถนนพระสุเมรุ
- จุดที่ 3 เป็นคลังเก็บสินค้าฝั่งตรงข้ามตึกแถวเก่า 14 คูหาที่เรากำลังพูดถึง
- จุดที่ 4 คือตึกแถวเก่า 7 คูหา ชุดที่กำลังจะถูกรื้อถอน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่ 3 พอดี
"จริง ๆ แล้วจุดที่ 2 ที่เป็นภัตตาคารผ่านฟ้าก็น่าเสียดายเพราะก็เป็นอาคารเก่าสไตล์ Early Modern ที่ถ้าเลี่ยงได้ก็น่าจะเก็บรักษาไว้เช่นกัน (เพียงแต่อาจจะไม่มีลวดลายปูนปั้นหรืองานประดับตกแต่งสวยงามเท่าตึกแถวที่เราพูดถึง และตัวภัตตาคารผ่านฟ้าเองก็เป็นร้านเก่าแก่กว่า 75 ปี)"
สิ่งที่ ผู้ว่า กทม. ปัจจุบันทำได้
- ให้ลดทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าลงเหลือ 3 จุด เพราะจุดที่ 3 และ 4 ห่างกันแค่ข้ามถนนที่ไม่กว้างมากนัก และจะเป็นผลดีที่คนขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าจะเห็นอาคารเก่าสวยงามชุดนี้ตั้งอยู่
- ถัดจากอาคาร 14 หลังจะเป็นตึกเก็บของสำหรับงานตกแต่งของสำนักงาน กทม. ซึ่งคับแคบและเป็นที่กองของต่าง ๆ ถ้าจำเป็นต้องมีทางขึ้น 4 ทาง ก็ควรขยับมาใช้พื้นที่บริเวณนี้ และควรหาพื้นที่อื่นที่ใหญ่กว่านี้สำหรับส่วนงานตกแต่งของ กทม. และปรับพื้นที่บริเวณนี้เป็นถนนสำหรับการท่องเที่ยว
- เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับผู้เช่าอาคารดังกล่าว กทม. ควรจ่ายเงินชดเชยให้เจ้าของที่ดินและผู้เช่าตามสมควร เพื่อชดเชยกิจการที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและเพื่อจะได้รักษาอาคารเก่าที่มีคุณค่านี้ไว้
"การพัฒนากรุงเทพฯ ชั้นในซึ่งเป็นหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์ให้งดงามและสมสมัย ควรต้องรักษาประวัติศาสตร์เก่าอันทรงคุณค่า ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลไปพร้อม ๆ กันในอนาคต" นางสาวรสนา โตสิตระกูล ระบุทิ้งท้าย