เด่นโซเชียล

"เงินบำนาญชราภาพ" ผู้ประกันตน เตรียมเฮ เสนอ ให้เลือกรับตอน 55 หรือ 60 ปีได้

"เงินบำนาญชราภาพ" ผู้ประกันตน เตรียมเฮ เสนอ ให้เลือกรับตอน 55 หรือ 60 ปีได้

20 ม.ค. 2565

"เงินบำนาญชราภาพ" ผู้ประกันตนทั้งหลาย เตรียมเฮได้เลย หลังองค์กรผู้บริโภคเสนอ "ประกันสังคม" เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินอายุ 55 หรือ 60 ปีได้ตามที่ต้องการ

 
"เงินบำนาญชราภาพ" 
องค์กรผู้บริโภคเสนอประกันสังคม จ่ายบำนาญชราภาพแบบเดิม เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกอายุในการรับบำนาญ แต่หากจะขยายอายุ อาจเตรียมเกษียณอายุ 60 ปี สำหรับผู้ประกันตนรายใหม่ หรือสอบถามความสมัครใจ สำหรับผู้ประกันตนรายเดิม ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอเปิดรับฟังความเห็นก่อนปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์

 

 

จากกรณีที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปฏิรูปประกันสังคมระบบกองทุนชราภาพเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในอนาคต การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 แต่ยังชะลอการดำเนินการจากสถานการณ์โควิด ส่วนการขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำปรับแก้จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไป

 

 

 

 

ด้านเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ให้ความเห็นกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า การที่ประกันสังคมจะยกเลิกการจ่าย "บำนาญชราภาพ" ให้กับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี แล้วเลื่อนการจ่ายบำนาญชราภาพเมื่ออายุ 60 ปีแทนนั้น สปส. ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกว่าจะรับบำนาญที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งควรเป็นการตัดสินใจของผู้ประกันตนที่จะเลือกสิทธิของผู้ประกันตนนั้นด้วยตัวเอง

 

 

แต่หากประกันสังคมจะปรับให้จ่ายคืนบำนาญที่อายุ 60 ปี ก็ควรดำเนินการกับผู้ประกันตนใหม่หรืออาจจะดำเนินการอย่างเป็นระบบ สอบถามความสมัครใจในการที่จะเลือกสำหรับผู้ประกันตนรายเดิม ส่วนรายใหม่ก็จัดการปรับแก้กฎหมายให้ชัดเจน ให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ 60 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลดี ทำให้บริษัทเอกชนทั้งหลายอาจจะต้องยืดระยะเวลาการจ้างงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี จากเดิมที่บริษัทเอกชนจะใช้วิธียุติการจ้างเมื่อครบอายุ 55 ปีแล้วให้ลูกจ้างไปรับเงินประกันสังคมแทน แล้วอาจจะทำสัญญาจ้างใหม่อีกรอบซึ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิต่าง ๆ อีกหลายอย่าง

 

 

แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร สปส.ควรจะสอบถามผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ เพราะ ผู้ประกันควรมีสิทธิเลือกและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ สปส. ควรจะดำเนินการซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วย ก็คือ การขยายเพดานวงเงินสูงสุดของผู้ประกันตนที่สมทบจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

 

 

 

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมอีกส่วน คือ การปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะ ในปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น

  • งบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปส. ควรเร่งพัฒนาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์และลดการจ่ายเงินในส่วนบริการสุขภาพหรือยุติการจ่ายเงินในส่วนสุขภาพในที่สุด เพราะ รัฐบาลควรรับผิดชอบผู้ประกันตนเช่นเดียวกับผู้ป่วยในระบบบัตรทองหรือระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนชราภาพเพิ่มขึ้นได้มากกว่าในปัจจุบัน

 

 

ด้านรองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ กล่าวว่า  สปส. ควรเปิดรับฟังความเห็นของผู้ประกันตน เพราะ การกำหนดหลักเกณฑ์หรือเปลี่ยนเงื่อนไขใด ๆ  ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนนั้น ควรรับฟังความเห็นก่อนที่จะปรับเปลี่ยน เนื่องจาก ผู้ประกันตนเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกัน การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ไม่ใช่การที่ สปส.เป็นผู้กำหนดเอง อีกประเด็นที่สังเกต คือ เรื่องนี้ยังไม่เปิดรับฟังความเห็น จึงไม่เห็นด้วยที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ "บำนาญชราภาพ" 

 

 

ข้อมูล : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค