เด่นโซเชียล

"ยื่นภาษีออนไลน์ 2564" ลดหย่อนภาษี ด้วยกองทุน RMF SSF ประกันชีวิต แบบไหนดี

"ยื่นภาษีออนไลน์ 2564" ลดหย่อนภาษี ด้วยกองทุน RMF SSF ประกันชีวิต แบบไหนดี

05 ก.พ. 2565

"ยื่นภาษีออนไลน์ 2564" เช็คที่นี่ ลดหย่อนภาษี นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อกองทุน RMF SSF ประกันชีวิต ผลิตภัณฑ์แบบไหนดี ลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน มาหาคำตอบได้เลย

 

"ยื่นภาษีออนไลน์ 2564" ปัญหาใหญ่ของผู้มีรายได้หลายคนหนีไม่พ้นการต้องจ่ายภาษีจำนวนมาก ไม่ใช่ไม่อยากจ่ายภาษี แต่ถ้ามันมีวิธีลดหย่อน ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้ ทำไมจะไม่ทำกันล่ะ วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ ขอเสนออีกหนึ่งแนวทางที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ อาทิ การซื้อ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือแม้แต่การลงทุนในกองทุน RMF , SSF เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนลดหย่อนภาษีในรอบปี 2564 ที่จะถึงนี้

 

 

 

 

"ยื่นภาษีออนไลน์ 2564" กองทุนรวม มีอยู่ 2 ประเภท ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดหย่อนภาษี ได้แก่

 

  • กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Savings Fund) กองทุนเพื่อส่งเสริมการออมให้มีระยะยาวขึ้น สามารถซื้อกองทุน SSF เพื่อใช้ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปีปฏิทิน โดยในเบื้องต้นกองทุน SSF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2563 - 2567 หลังจากนั้นจะถูกประเมินและทบทวนอีกครั้งโดยกระทรวงการคลัง ส่วนเงื่อนไขการลงทุน ปีไหนซื้อปีนั้นได้ลดหย่อน และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อลงทุนครบ 10 ปีปฏิทิน

 

 

 

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) กองทุนเพื่อส่งเสริมการออม สำหรับเป็นเงินออมที่รองรับชีวิตหลังเกษียณ โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ มีผลตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป สามารถซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิในการ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน ให้เป็นไปตามที่แต่ละกองทุนกำหนด แต่เงื่อนไขการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และเว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน และยังคงเหมือนเดิม ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็ม

 

 

 

 

"ยื่นภาษี 2564" SSF ต่างกับ RMF อย่างไร

SSF (Super Savings Fund)

 

  • ซื้อได้สูงสุด : ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ* ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงื่อนไขการหักภาษี : หักภาษีได้ปีต่อปี ตั้งแต่ปี 2563 - 2567
  • ขายได้ตอนไหน : ถือครบ 10 ปี นับแบบวันชนวัน
  • นโยบายการลงทุน : หลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ
  • นโยบายปันผล : มีทั้งแบบปันผลและไม่ปันผล

 

 

RMF (Retirement Mutual Fund)

 

  • ซื้อได้สูงสุด : ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอายุอื่น ๆ*
  • เงื่อนไขการหักภาษี : 2563 เป็นต้นไป
  • ขายได้ตอนไหน : ถึงอายุ 55 ปี และครบ 55 ปี นับแบบวันชนวัน
  • นโยบายการลงทุน : หลากหลายสินทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ
  • นโยบายปันผล : ไม่มีปันผล

 

 

* กองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ : กองทุน SSF , กองทุน RMF , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ , กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน , กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ

 

 

แบบไหนควรซื้อ SSF

 

  1. เงินได้ - ค่าลดหย่อนแล้ว > 150,000 บาท
  2. อยากลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน
  3. ต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์
  4. ต้องการให้เงินลงทุนเติบโตในระยะยาว
  5. อยากลงทุนแต่ไม่อยากซื้อ RMF
  6. เป็นคนที่ฐานภาษีสูง ๆ เช่น 20% ขึ้นไป
  7. ต้องการลดหย่อนเพิ่มเติมจากตัวเลือกอื่น ๆ

 

 

แบบไหนไม่ควรซื้อ SSF

 

  1. รู้สึกว่าการลงทุนมันมีความเสี่ยง
  2. อยู่ในภาวะกำลังชักหน้าไม่ถึงหลัง สภาพคล่องหืดขึ้นคอ
  3. มีฐานภาษีไม่สูง
  4. เซียนหุ้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูง

 

 

ประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพ 2 ประเภทหลัก ๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี "ลดหย่อนภาษี 2564" ได้แก่

 

  • ประกันชีวิตทั่วไป ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้นั้นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมา ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยนับรวมเบี้ยประกันภัยในส่วนสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ (ถ้ามี) ได้สูงสุด 25,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563)

 

 

  • ประกันชีวิตแบบบำนาญ มอบความคุ้มครองชีวิตและมอบเงินคืนเป็นงวด ๆ หลังจากที่เกษียณไปแล้ว สามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมา ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท หากไม่ได้ซื้อประกันชีวิตทั่วไป สามารถใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

 

 

ทีนี้ หากจะนำกองทุนหรือประกันชีวิตที่ซื้อ รวมไปถึงกองทุนเพื่อการออมต่าง ๆ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กอช. เป็นต้น ไปหักลดหย่อนภาษี "ลดหย่อนภาษี 2564" นั้น มีเงื่อนไขอยู่ว่า เมื่อนับรวมผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จะหักลดหย่อนแล้วจะต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท

 

 

เอกสารสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง

รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) และจะต้องเตรียมเอกสาร ดังนี้

 

  1. หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  2. รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี เช่น ใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันชีวิตหรือ หนังสือรับรองการจ่ายเงินเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น

 

 

ยื่นภาษีได้ที่ไหนบ้าง

 

  1. ยื่นภาษีด้วยตัวเองที่ กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
  2. ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th : คลิกที่นี่
  3. ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรเป็นอันดับแรก จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

 

 

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็น ประกัน หรือ กองทุน อยากให้พิจารณาจากความจำเป็นหรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เช่น

 

  • หากเป็นคนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เสี่ยง หรือเดินทางบ่อย อาจจะเลือกประกันชีวิต ที่อาจจะซื้อเสริมจากประกันที่ทางบริษัทจ่ายให้
  • ส่วนคนที่มีความจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะเลือกเป็นประกันสุขภาพ
  • แต่หากลักษณะการทำงานหรือไลฟ์สไตล์ชอบเก็บออม หรือชอบลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ก็อาจจะเลือกเป็นการซื้อกองทุน

 

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม ควรมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ รัดกุม รวมถึงศึกษารายละเอียดจากคู่มือภาษี หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียด กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างให้ละเอียดก่อน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด

 

 

ข้อมูล : กรมสรรพากร