Crypto คืออะไร? สรุป "ภาษีคริปโต" แบบเข้าใจง่าย ไม่อยากจ่ายทำอย่างไร เช็คเลย
ชวนรู้จัก "ภาษีคริปโต" คืออะไร สรุปแบบเข้าใจง่าย รายได้ไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี แล้วเสียยังไง ปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีกรอกแบบการยื่นภาษี ถ้าไม่อยากจ่ายต้องทำอย่างไร เช็คครบจบที่นี่
"ภาษีคริปโต" Cryptocurrency เสียยังไง เสียแบบไหน รายได้แบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี คมชัดลึกออนไลน์ สรุปมาให้แล้ว เช็คครบจบที่นี่ อ้างอิง พระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งระบุรายละเอียดในเนื้อหาว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตฯ จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดย พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ได้หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ
โดยที่ในปัจจุบันได้มีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ โทเคนดิจิทัล ซึ่งเงินได้จากกรณีดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนํามารวมคํานวณเพื่อเสียภาษี แต่โดยที่ยังไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการจัดเก็บ ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี เงินได้จาก คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เป็นการเฉพาะเป็นเหตุให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน
ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจําเป็นที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และโดยที่เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้
แบบไหนต้องเสีย "ภาษีคริปโต" เริ่มต้นด้วยหลักการของกฎหมาย 3 ข้อ คือ
- ส่วนแบ่งกำไรที่ได้ต้องเสียภาษี
- ผลประโยชน์ที่เกิดจากการโอนต้องเสียภาษี
- ให้ผู้จ่ายเงินได้หัก 15% เมื่อมีการจ่ายเงินได้ และหักแล้วไม่สามารถใช้สิทธิ Final TAX
กรณีเป็นเงินได้จากต่างประเทศจะไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย
- อยู่ในไทยในปีนั้นไม่ถึง 180 วัน
- ไม่ได้นำเงินได้เข้ามาในปีที่เกิดเงินได้
* คำแนะนำ ถ้าหากเทรดที่ต่างประเทศแล้วถือกำไรไว้ เอาเข้ามาปีถัดไป จะไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง
แต่หากเทรดที่ไทย ตีความรายได้เป็น 3 ทาง ดังนี้
- กรณีที่เทรด (กำไรจากการแลกเปลี่ยน) สรรพากรตีความว่าคิดตาม Transaction ที่มีกำไร โดยไม่ให้นำขาดทุนที่เกิดขึ้นมาหักออกได้เลย และหากมีการซื้อขายที่กระดานเทรด (Exchange) หากเกิดรายได้ (กำไร) เมื่อไร ก็ถือว่าเป็นรายได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องถอนเงินออกมาเข้าบัญชีธนาคาร
- กรณีที่รับผลตอบแทน (ล็อกเหรียญ / Staking) มองเหมือนการได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร ผลตอบแทนต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลด้วยเช่นกัน โดยทั้งข้อ 1 - 2 ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4
- กรณีขุด (Mining) จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 เหมือนการผลิตสินค้าเพื่อขาย โดยจะเป็นรายได้ ก็ต่อเมื่อมีการขายให้กับทางผู้ซื้อแล้วเท่านั้น และให้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายตามจริงได้ (ไม่มีสิทธิหักเหมา)
* หากผู้จ่ายมีการจ่ายเงินได้ให้ผู้รับเงิน ก็ต้องหักภาษี 15% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
วิธีการคำนวณรายได้
- ซื้อ 100,000 ขาย 150,000 กำไร 50,000
- ซื้อ 150,000 ขาย 20,000 ขาดทุน 130,000
* เสียภาษีจาก กำไร 50,000 บาท
- ฝาก 100,000 ผลตอบแทน 10% ได้เพิ่ม 10,000
* เสียภาษีจาก 10,000 บาท
- ขุด 100,000 ต้นทุน XXX กำไร XXX
* เสียภาษี เมื่อมีการขาย
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้หัก 15% เมื่อมีการจ่าย
ปัญหาที่เกิดขึ้น
- หัก ณ ที่จ่าย 15% ปฏิบัติไม่ได้จริง : ไม่รู้ว่าหักอย่างไร หักเท่าไหร่ คิดยังไง?
- วิธีการคำนวณต้นทุนแบบไหนเหมาะสม : วิธีคิดต้นทุนการซื้อ / วิธีคิดต้นทุนการขุด
- เกณฑ์การคำนวณผลประโยชน์ : ผลประโยชน์ที่ได้รับคิดด้วยมูลค่าเท่าไหร่
วิธีกรอกแบบการยื่นภาษี ดังนี้
- กรณีการยื่นแบบภาษีออนไลน์ เข้าไปที่เว็บไซต์ E-FILING : https://efiling.rd.go.th/ : คลิกที่นี่ กดยื่นแบบออนไลน์ : คลิกที่นี่ ล็อกอินแล้วทำตามขั้นตอน
- ในหน้า กรอกเงินได้ จะมีหัวข้อ รายได้จากการลงทุน "ดอกเบี้ย เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด ๆ จาก คริปโตเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน (มาตรา 40(4)) คลิก ระบุข้อมูล
- กรอกเป็นรายการ ประเภทธุรกิจ (ประเภทของเงินได้) เงินได้ทั้งหมด ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เลขผู้จ่ายเงินได้