เช็ค "ศูนย์พักคอย" โอไมครอนระบาดติดเชื้อพุ่ง คัดกรองผลบวกแยกกักรอส่งรักษา
"ศูนย์พักคอย" Community Isolation (CI) สำหรับผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มีที่ไหนบ้าง โอไมครอนแพร่ระบาด กลุ่มเสี่ยง - จำเป็นต้องคัดกรอง หากผลเป็นบวกต้องแยกกักทันทีก่อนรอส่งต่อรักษาโรงพยาบาล
เกาะติด "ศูนย์พักคอย" ตัดวงจรการแพร่ระบาดของ โอไมครอน โควิดสายพันธุ์ใหม่ Omicron (โอมิครอน) ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 แบบคลัสเตอร์ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด ขณะที่ กลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วย ชุดตรวจ ATK หากผลปรากฏติดเชื้อ จำเป็นต้องรีบแยกกักตัว และเข้าสู่ระบบการติดตามดูแลเฝ้าอาการ ทั้งในรูปแบบการกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) ลงทะเบียนสายด่วน สปสช. โทร 1330 กด 14 และรูปแบบชุมชน / ศูนย์พักคอย Community Isolation (CI) เพื่อรีบตัดวงจรการแพร่ระบาด
"ศูนย์พักคอย" กทม. เพื่อส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อพร้อมให้บริการแล้ว 13 แห่ง (ข้อมูล ณ 10 มกราคม 2565)
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย (เฉพาะสำหรับเด็กและครอบครัว) สามารถรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5 - 12 ปี แบ่งเป็น ชาย 26 คน และหญิง 26 คน เดิมได้ปรับเป็นสแตนด์บายโหมดอยู่แล้ว หากมีผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ที่เป็นเด็กอายุ 5 - 12 ปี ก็สามารถรับผู้ติดเชื้อมาดูแลได้ทันที
- บริษัท RBS Logistic จำกัด เขตลาดพร้าว 175 เตียง
- โรงเรียนการไปรษณีย์ เขตหลักสี่ 118 เตียง
- ประปาแม้นศรี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 100 เตียง
- ศูนย์ตันปัน เขตห้วยขวาง 145 เตียง
- วัดสะพาน เขตคลองเตย 500 เตียง
- นาซ่า แบงค์คอก เขตสวนหลวง 92 เตียง
- ศูนย์พักคอย กทม. เขตคันนายาว 127 เตียง
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางกะปิ 133 เตียง
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตทวีวัฒนา 114 เตียง
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัย (สตรี) เขตบางกอกใหญ่ 50 เตียง
- วัดกำแพง เขตภาษีเจริญ 100 เตียง
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางขุนเทียน 120 เตียง
นอกจาก "ศูนย์พักคอย" เพื่อส่งต่อผู้ป่วย โควิด-19 แล้ว กทม. ยังได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวน 4 แห่ง และโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต ทั้ง 6 กลุ่มเขต จำนวน 7 แห่ง โดยดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชน จำนวนเตียงทั้งสิ้น 4,974 เตียง รวมถึงเตรียมความพร้อมทั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยเพิ่มเติมอีก 25,345 เตียง แบ่งเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง
"กรณีประชาชนติดเชื้อ โควิด-19 สามารถแจ้งเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทางสายด่วน โทร. 1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประเมินอาการและนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด แต่หากมีกรณีฉุกเฉินสามารถติดต่อผ่านศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 ได้อีก 1 ช่องทาง เจ้าหน้าที่จะช่วยประสานข้อมูลเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการต่อไป" นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุ