เด่นโซเชียล

เร่งหาความจริง ปมปิดข่าว "เครนหล่นทับ" หนุ่มวิศวกรดับ ล่าสุด บริษัทตอบแล้ว

เร่งหาความจริง ปมปิดข่าว "เครนหล่นทับ" หนุ่มวิศวกรดับ ล่าสุด บริษัทตอบแล้ว

14 ม.ค. 2565

สรุปดราม่า โลกออนไลน์ แห่แชร์ กรณี "วิศวกรหนุ่ม" ถูก "เครนหล่นทับ" ในไซด์งานย่านทองหล่อเสียชีวิต ด้านบริษัทต้นสังกัดยืนยันไม่ได้ปิดข่าว พร้อมยินดีรับผิดชอบเต็มที่

สรุปดราม่า โลกออนไลน์ แห่แชร์ กรณี "วิศวกรหนุ่ม" ถูก "เครนหล่นทับ" ในไซด์งานย่านทองหล่อเสียชีวิต ด้านบริษัทต้นสังกัดยืนยันไม่ได้ปิดข่าว พร้อมยินดีรับผิดชอบเต็มที่

 

เป็นอีกเรื่องร้อนแรงบนโลกออนไลน์ หลังมีคนแชร์เรื่องราวของ "วิศวกรหนุ่ม" ที่เพิ่งเรียนจบหมาด ๆ ทำงานได้ 8 เดือน โชคร้ายเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างการทำงานถูก "เครนหล่นทับ" แต่เรื่องที่ทำให้เป็นประเด็นการถกเถียงในโลกออนไลน์คือ เรื่องนี้โดนปิดข่าว 

เมื่อเพื่อน ๆ ของ "วิศวกรหนุ่ม" นำดอกไม้ไปวางเพื่อไว้อาลัยบริเวณจุดเกิดเหตุ กลับถูกเก็บไปเพื่อไม่ให้เป็นข่าว โดยเมื่อเรื่องราวดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป โลกโซเชียลต่างแห่ติดแฮชแท็ก #ไซต์งานแถวบีทีเอสทองหล่อ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและทวงถามถึงความรับผิดชอบจากบริษัท 

 

ล่าสุด วันนี้14 ม.ค.65 ทาง บริษัท ต้นสังกัด ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องราว "วิศวกรหนุ่ม" โดยรายละเอียดมีดังนี้

 

“จากเหตุการณ์อุบัติเหตุที่หน่วยงานก่อสร้างของบริษัทในวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้พนักงานของบริษัทได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา พนักงานท่านนี้เป็นบุคลากรที่มีความสามารถ ขยัน มีความรับผิดชอบสูง เป็นที่ชื่นชมของผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน บริษัทขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการสูญเสียในครั้งนี้ และเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทไม่อยากให้เกิดขึ้นกับพนักงานของบริษัท”

 

“บริษัทพร้อมรับผิดชอบดูแลอย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่เกิดเหตุทีมงานของบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจและรีบส่งตัวเข้ารักษาที่ โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุด และมีผู้บริหารของบริษัท เข้าไปดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดที่ โรงพยาบาลและขอให้แพทย์ช่วยชีวิตอย่างสุดความสามารถ”

 

“บริษัทได้แสดงเจตจำนงในการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตในทุกด้าน และ ได้พยายามดำเนินการประสานงานเยียวยากับครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเข้าใจอย่างยิ่งในการสูญเสียอย่างกะทันหัน และจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยเหลือ”

 

“ครอบครัวของพนักงานอย่างเต็มที่ โดยบริษัทได้แจ้งความประสงค์ขอรับผิดชอบช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และค่าพิธีงานศพตั้งแต่วันที่พนักงานเสียชีวิต รวมถึงได้แสดงเจตจำนงช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต และได้ดำเนินการติดต่อกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาโดยตลอดตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ซึ่งมีการนัดพูดคุยครั้งแรกกับตัวแทนญาติผู้สูญเสียเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 และอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อดูแลและพร้อมรับผิดชอบเยียวยาอย่างเต็มที่”

 

“บริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริงต่างๆและแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานภากรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด และได้มีการหยุดการก่อสร้างชั่วคราวจวบจนถึงปัจจุบัน”

 

“ทั้งนี้ทางบริษัทไม่ได้มีเจตนาในการปกปิดใดๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะผู้บริหารขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อกรอบครัวของผู้ชญเสียกับเหตุการณ์ในครั้งนี้”

 

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน 14 ม.ค.65 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีโซเชียลมีเดีย เผยเหตุ "วิศวกรหนุ่ม" ได้รับอุบัติเหตุ  "เครนหล่นทับ" เสียชีวิต และมีการปิดข่าวนั้น

 

ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้มอบให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการตรวจสอบสิทธิและนำเงินทดแทนไปมอบให้ญาติผู้เสียชีวิต โดยมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,680,000 บาท 

 

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยทราบในทันทีกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต

 

โดยจะแจ้งโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควรก็ได้ จะต้องแจ้งรายละเอียดและสาเหตุเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดโดยมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งกรณีนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ยังไม่ได้รับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจากนายจ้างแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ความผิดตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ที่พบบ่อยครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานคือ นายจ้างไม่ได้จัดทำและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

ซึ่งความผิดดังกล่าวจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถึงปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยขึ้นอยู่กับฐานความผิดนั้น ๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการสอบข้อเท็จจริงต่อไป.