เด่นโซเชียล

"ไม่รับปริญญา" เพจ กฎหมายแรงงาน มีคำตอบ บริษัทไม่รับเข้าทำงานได้จริงมั้ย

"ไม่รับปริญญา" เพจ กฎหมายแรงงาน มีคำตอบ บริษัทไม่รับเข้าทำงานได้จริงมั้ย

18 ม.ค. 2565

"ไม่รับปริญญา" ติดเทรนด์มาแรงจนเป็นประเด็นถกเถียงบนโลกโซเชียล เนื่องจาก ปมบริษัทตั้งกฎไม่รับเข้าทำงานหากไม่รับยอมรับปริญญา จนหลายคนสงสัยว่า สามารถทำแบบนี้ได้จริงมั้ย ล่าสุด เพจกฎหมายแรงงานออกมาให้คำตอบแล้ว

 

"ไม่รับปริญญา" กลายเป็นประเด็น talk of the town หลังจากมีแพทย์หญิงคนหนึ่ง ออกมาแสดงความคิดว่า ไม่เข้ารับปริญญา ระวังเขาจะไม่รับเข้าทำงาน ทำให้ชาวเน็ตออกมาแสดงความคิดเห็นจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ #ไม่รับปริญญา พร้อมตั้งคำถามว่า หากไม่รับปริญญา แล้วบริษัทไม่รับเข้าทำงานเพราะเหตุผลแบบนี้ สามารถทำได้จริงมั้ย? 

 

 

 

 

ล่าสุด เพจ กฎหมายแรงงาน ออกมาให้คำตอบแล้ว โดยระบุว่า "เขา" ในที่นี้น่าจะรวมทั้งงานภาคเอกชน งานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการไม่เข้ารับปริญญาอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

  • ไม่มีเงิน เพราะ การรับปริญญามีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร
  • หลายอาจเรียนเพื่อต้องการความรู้แต่ก็ไม่ได้สนใจเข้ารับปริญญา
  • โควิด-19 ระบาด

 

โดยปกติมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาจะเปิดให้ลงทะเบียนว่าใครจะเข้ารับปริญญาบ้าง และใครจะไม่เข้ารับปริญญา ซึ่งก็เป็นการให้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะเข้ารับหรือไม่

 

ส่วนจะรับปริญญากับใครก็สุดแล้วแต่ อย่างต่างประเทศก็อาจรับกับอธิการบดี ในไทยหากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐก็อาจรับกับราชวงศ์ มหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่ก็รับกับอธิการบดี หรือผู้ทรงคุณวุฒิ

 

การวางกติกาว่าหากใครไม่เข้ารับปริญญาจะไม่รับเข้าทำงานนั้นถือว่าผิดธรรมชาติการรับคนเข้าทำงานที่จะต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถ หรือทัศนคติ และการไม่เข้ารับปริญญาก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีทัศนคติที่ไม่ดีเสมอไป

 

อย่างไรก็ตาม แม้มีการกำหนดกติกาการรับสมัครงานเอาไว้ แต่ใดที่ยังไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง ก็ไม่อาจนำ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เข้าไปใช้บังคับได้

 

แต่เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญมาดู เราก็จะพบกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ

  • ถิ่นกำเนิด
  • เชื้อชาติ
  • ภาษา
  • เพศ
  • อายุ
  • ความพิการ
  • สภาพทางกายหรือสุขภาพ
  • สถานะของบุคคล
  • ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม
  • ความเชื่อทางศาสนา
  • การศึกษาอบรม
  • ความคิดเห็นในทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

 

ซึ่งหลักการเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

 

การเลือกปฏิบัติและทัศนคติที่มองคนเห็นต่างเป็นศัตรูย่อมเป็นอันตรายต่อความก้าวหน้าของสังคม จริง ๆ แล้วตราบาปที่ถูกบันทึกไว้จากการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย มีหลายกรณี ดังนี้

 

 

 

 

  • การเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างในเรื่องเพศ

เกิดกรณีบริษัทได้กำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุ 55 ลูกจ้างชายเกษียณ 60 ปี ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติกรณีเกษียณ เพราะ เหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ ส่งผลให้การกำหนดอายุการเกษียณของเพศหญิงเป็นโมฆะ (คำพิพากษาที่ 2127/2555)

 

  • การเลือกปฏิบัติ เพราะ ความพิการทางร่างกาย

เคสนี้ น่าตกใจมาก เพราะ เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บังคับใช้กฎหมายเอง เรียกว่า “ความพิการของกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย” โดยเป็นกรณีการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการในการสอบเป็นผู้ช่วยอัยการ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 142/2547) และการตัดสิทธิทนายโปลิโอในการเข้าสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545)

 

  • การเลือกปฏิบัติ เพราะ ผลการเรียน

เป็นกรณีที่เกิดกับการเลือกรับราชการ โดยรับเฉพาะเกียรตินิยม (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.158/2550)

 

และน่าตกใจที่แนวคิดการเลือกปฏิบัติอันเกิดจากการไม่เข้ารับปริญญา ขอเถอะจงเลือกจากความสามารถและคุณค่าในตัวเขา

 

 

ไม่รับปริญญา, ไม่รับเข้าทำงาน, กฎหมายแรงงาน, รัฐธรรมนูญ

 

 

ข้อมูล : กฎหมายแรงงาน