"มะเร็ง" 3 ชนิด กินหมูกระทะ ตับ ท่อน้ำดี ลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เสี่ยงจริงหรือไม่
กิน หมูกระทะ เสี่ยงได้รับสารก่อ "มะเร็ง" มากถึง 3 ชนิด จริงหรือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวแล้ว
"มะเร็ง" ถือเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องที่มีการส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด เชื่อมโยงเมนูยอดฮิต หมูกระทะ ที่เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายต่อหลายคน ว่า กินหมูกระทะ เสี่ยงได้รับสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้นว่า ในปัจจุบันประชาชนนิยมรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างและเมนูหมูกระทะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาหารที่ถูกปรุงสุกโดยผ่านความร้อนจนไหม้เกรียมจะพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่หลายชนิด ได้แก่
- สารไนโตรซามีน (Nitrosamines)
- สารกลุ่มพัยโรลัยเซต (Pyrolysates)
- สารในกลุ่มของพีเอเอช (PAHs)
โดยการปนเปื้อนของสารก่อ "มะเร็ง" จะพบได้ในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหาร พบในควันที่เกิดจากการปิ้งย่างของอาหาร และควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเตาถ่าน รวมทั้งพบการปนเปื้อนตามเนื้อสัตว์ที่ผ่านการรมควัน ซึ่งหากรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างเป็นประจำ สารก่อมะเร็งจะเข้าไปสะสมในร่างกายอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
ทั้งนี้ หากมีการรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างให้ตัดในส่วนที่ไหม้เกรียมออกก่อน และปรุงอาหารโดยไม่ใช้ความร้อนสูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยง "มะเร็ง" ควรลดปริมาณการรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างลง และเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายให้ครบ 5 หมู่
ข้อมูล : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ