รู้จัก "อะฟลาทอกซิน" ในอาหารแห้ง เผลอกินเข้าไป หมอไม่รับประกันความปลอดภัย
หมอ ชี้ "อะฟลาทอกซิน" ในอาหารแห้ง เป็น "สารก่อมะเร็ง" ในมนุษย์ เมื่อมีการปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวในอาหารและร่างกายได้รับสารนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ
วันนี้ 5 ก.พ.65 ตามที่มีข้อความปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สาร "อะฟลาทอกซิน" ที่พบในอาหารแห้ง เป็น "สารก่อมะเร็ง" ในมนุษย์ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
องค์การอนามัยโลก เปิดเผยรายงานว่า "อะฟลาทอกซิน" เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยสารอะฟลาท็อกซินถูกสร้างจากเชื้อราในตระกูล Aspergillus มักพบปนเปื้อนผลผลิตทางการเกษตร หากเก็บไว้ในที่ที่อุณหภูมิและความชื้นสูง เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ พริกไทย พริกป่น กระเทียม หอมแดง เป็นต้น สารอะฟลาท็อกซินเป็นอันตรายทั้งในมนุษย์และสัตว์ มีความสามารถในการทนความร้อนได้สูง ซึ่งความร้อนที่ใช้ในการหุงต้มอาหาร
โดยทั่วไปตามบ้านเรือนนั้น ไม่สามารถทำลายสาร "อะฟลาทอกซิน" ดังกล่าวให้หมดไปได้ เมื่อมีการปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวในอาหารและร่างกายได้รับสารนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งตับ เป็นต้น ซึ่งความเป็นพิษที่ส่งผลต่อร่างกายของแต่ละบุคคลจะมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับสารพิษนั้นๆ ความถี่ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย อายุ และความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายในแต่ละตัวบุคคล
ทั้งนี้ ควรเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่แตกหรือชำรุด มีส่วนประกอบและมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ และซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อความสดใหม่ ลดเวลาในการเก็บวัตถุดิบไม่ให้นานเกินไปและจัดเก็บอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงที่ที่อุณหภูมิและความชื้นสูง
นอกจากนี้ขั้นตอนในการทำอาหารอาจช่วยลดปริมาณของ "อะฟลาทอกซิน" ได้ เช่น การล้างและการปอกเปลือกคัดแยกส่วนที่ปนเปื้อนออก เป็นต้น
เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02 2026800