"แมสก์ปิดจมูก" เทรนด์ใหม่เกาหลี กิน-ดื่มง่าย แบบนี้จะดีเหรอ หมอไม่แนะนะเออ
"แมสก์ปิดจมูก" เทรนด์ใหม่มาแรงในเกาหลี สนนราคา 1 กล่อง 10 ชิ้น 270 บาท กินดื่มง่าย ชาวเน็ตถามแบบนี้จะดีเหรอ หมอไม่แนะนะนำนะเออ
"แมสก์ปิดจมูก" เทรนด์ใหม่มาแรงของเกาหลี จากกรณีบนโลกโซเชียล มีการแชร์ข้อมูล หลังจากที่ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัท Atman จากเกาหลีใต้ ออกแบบผลิตภัณฑ์ "หน้ากากอนามัย" ชนิดใหม่ ใช้ชื่อว่า "Kosk" ซึ่งเป็นหน้ากากชนิดปิดเฉพาะจมูกเท่านั้น และเริ่มวางขายในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์บางแห่งแล้ว เพื่อตอบรับการใช้ชีวิตยุคโควิด-19 ที่จะต้องอยู่กันไปอีกนาน โดย "หน้ากากอนามัย" รูปแบบใหม่นี้ ถูกขายในราคากล่องละ 9,800 วอน (ประมาณ 270 บาท) 1 กล่องบรรจุ 10 ชิ้น โดยคำว่า "Kosk" (โคส์ก) มาจาก "Mask" กับ "Ko" ที่แปลว่าจมูกในภาษาเกาหลี เดิมคำว่า "โคส์ก" จะใช้เรียกคนที่ใส่แมสก์ปิดปาก แต่เปิดจมูกเอาไว้
สำหรับ "แมสก์ปิดจมูก" นี้ ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนของหน้ากาก 2 ชิ้น โดยเมื่อต้องการจะรับประทานอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่ม ก็สามารถถอดหน้ากากอนามัยชิ้นที่ปิดส่วนปากออก และยังเหลือหน้ากากอีกชิ้นหนึ่ง ที่ยังทำหน้าที่ปิดจมูกอยู่ ทำให้ได้รับความสะดวกมากขึ้นพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ภายหลัง "แมสก์ปิดจมูก" โคส์ก ถูกวางจำหน่าย มีคนแสดงความคิดเห็นหลากหลายแง่มุม ทั้งเห็นด้วย เพราะเชื่อว่าช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น แต่บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเมื่อใช้งานแล้วดูค่อนข้างตลก และอาจไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดได้มากเท่าที่ควร
ซึ่งจากผลการศึกษาบางแห่งพบว่า เชื้อโคโรนาไวรัส เข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกได้ง่ายที่สุด ดังนั้น การสวมหน้ากากปิดจมูก อาจจะไม่ได้ดูไร้สาระอย่างที่เห็น หรือดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย
ขณะที่ ชาวเน็ตในประเทศไทย เมื่อเห็นแล้ว ก็มีคำถามเช่นเดียวกันว่า แบบนี้จะป้องกันโควิดได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แพทย์ และ นักวิชาการในประเทศไทย ต่างแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ที่ปิดทั้งปาก และจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดได้อย่างสมบูรณ์ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ที่ปิดทั้งปากและจมูก แต่จากการศึกษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่า ยังสามารถติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ เนื่องจากการสวม
"หน้ากากอนามัย" ผิดวิธี รวมถึงอาจมีพฤติกรรมหละหลวมในมาตรการบางอย่าง เช่น
- การนำมือที่เปื้อนสารคัดหลั่งไปสัมผัสบริเวณใบหน้า ดวงตา รวมถึงจมูก
- สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธี โดยขอบของหน้ากากไม่แนบสนิทกับใบหน้า หรือปิดบริเวณปากและจมูกไม่มิดชิด
- เก็บหน้ากากอนามัยไว้ในที่เสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรค เช่น กระเป๋ากางเกง กระเป๋าสะพาย หรือวางบนโต๊ะระหว่างรับประทานอาหาร ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเปื้อนเชื้อโรค
- การใช้หน้ากากอนามัยชิ้นเดิมซ้ำหลายครั้ง ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะรับเชื้อโควิด-19 ซึ่งปนเปื้อนมากับผิวสัมผัสของหน้ากาก
- ใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัยบ่อยครั้งแล้วสัมผัสตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ขอบคุณที่มา : ภาพจาก Coupang ข้อมูลจาก เดอะการ์เดี้ยน และ Kapook