อัปเดต "หลักประกันสุขภาพ" แต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้าง เช็คที่นี่
รัฐบาลเพิ่มสิทธิ "หลักประกันสุขภาพ" ให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละช่วงวัย ตรงตามความต้องการที่แตกต่างกันของชายหญิง เพิ่มอะไรบ้าง เช็คที่นี่
วันที่ 3 ก.พ.65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ปี 2565 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยทุกสิทธิ "หลักประกันสุขภาพ" โดยเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เหมาะกับความจำเป็นของแต่ละช่วงวัย ดังนี้
กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด
สามารถขอรับคำปรึกษาการเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตรได้ที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ จากเดิมการดูแลการตั้งครรภ์ในสิทธิบัตรทองกำหนดไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง ปรับขยายเป็น 8 ครั้ง และหากมีความจำเป็นสามารถดูแลได้มากกว่านั้น
กลุ่มเด็กเล็กอายุ 0 - 5 ปี
เมื่อทารกคลอดออกมาจะได้รับการเจาะเลือดที่ส้นเท้า เพื่อตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและโรคฟินิลคีโตนูเรีย โดยจะเพิ่มการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก 40 โรค ด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry
กลุ่มเด็กโต - วัยรุ่น อายุ 6 - 24 ปี
สำหรับผู้หญิงเมื่อเริ่มมีประจำเดือน มีสิทธิประโยชน์ในการตรวจเลือด เพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจางที่อาจจะเกิดขึ้นได้ พร้อมสิทธิรับยาเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก และกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถขอรับคำปรึกษาได้
กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25 - 59 ปี มีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ
- ตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม คือ ยีน BRCA1 BRCA2 ในคนที่เป็นมะเร็งเต้านม และติดตามญาติสายตรง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test หรือแป็บสเมียร์ (Pap smear)
- ตรวจคัดกรองโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) กรณีหลังนี้ให้สิทธิในทุกกลุ่มวัย
กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
สิทธิประโยชน์จะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะตรวจคัดกรองความดัน เบาหวาน มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น