สรุป "สาธิต" มธ. หลักสูตรใหม่ กับคำครหาบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน
สรุป "สาธิต" มธ. ดราม่าเดือดการศึกษาไทย หลังประกาศปรับหลักสูตรใหม่ ไม่เคร่งกฎเดิม ๆ ทั้งเครื่องแบบ, ทรงผม, เคารพธงชาติ, วิชาต่าง ๆ จนถูกครหาบิดเบือนประศาสตร์ไทย นายกฯ ลั่น จับตามอง
"สาธิต" มธ. สรุป ดราม่าเดือดบนโลกโซเชียล หลังจากทางโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศปรับหลักสูตรการศึกษาใหม่อย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำว่า หลักสูตรนี้จะทำให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น
- ไม่ต้องใส่เครื่องแบบมาเรียน
- ไม่บังคับเรื่องทรงผม หรือ สีผม
- ไม่ต้องมาเคารพธงชาติ และสวดมนต์ เปลี่ยนเป็นไปใช้เวลากับการโฮมรูม เพื่อเน้นการสื่อสารกันระหว่างครูกับนักเรียนแทน
นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนวิชาเรียนบางวิชา เช่น
- เปลี่ยนวิชาลูกเสือเนตรนารี เป็นการสอนวิชาอยู่รอดปลอดภัยแทน
- เปลี่ยนวิชาเพศศึกษา เป็นการสอนวิชาวัยรุ่นศาสตร์แทน
และยังเพิ่มวิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสนา) วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชารู้ทันการเงิน ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย ทั้งนี้ วิชาต่าง ๆ ผ่านการศึกษาดูงานจากทั้งหลักสูตรนานาชาติ และของหลักสูตรของไทยเองทั้งสิ้น
แน่นอนว่า การประกาศเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนมุมมองด้านการศึกษาเดิม ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง จนชาวเน็ตเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย บ้างเห็นด้วยการปรับเปลี่ยนการสอนให้ทันยุคสมัย พร้อมชื่นชมความคิดของผู้บริหารโรงเรียนที่มีความก้าวหน้าและทันโลก ในขณะที่อีกฝั่งมองว่า การไม่บังคับเรื่องทรงผม และเครื่องแบบ อาจทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัย และหลงลืมวัฒนธรรมดั้งเดิมในไม่ช้า
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางเพจดังบน Facebook อย่าง Drama-addict ได้แชร์โพสต์ของผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียน สาธิต มธ. ยืนยัน หลักสูตรทำให้เด็กสนุกกับการเรียนจริง ๆ ลูกเรียนที่นี่มา 4 ปี ไม่เคยมีวันไหนไม่อยากไปโรงเรียน สอนให้รู้จักคิด และตั้งคำถาม
เริ่มจากปัญหาเรื่องการแต่งกายที่หลายคนเกรงว่าจะเป็นการเหลื่อมล้ำนั้น ยืนยันว่า ไม่จริงเลย แม้จะแต่งตัวธรรมดาก็ไม่เคยมีใครมาดูถูก ร่างกายของเรา แล้วก็ไม่มีการแบ่งชนชั้น โดยทางโรงเรียนจะให้สวมเครื่องแบบเฉพาะเวลามีพิธีสำคัญเท่านั้น
เรื่องการถูกล้างสมอง ยืนยันว่าไม่จริง เพราะ โรงเรียนเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิเสรีภาพได้เต็มที่ สอนเรื่องการเมืองหลายรูปแบบ สอนแบบตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง โดยครูผู้สอนจะพูดเสมอ สุดท้ายแล้วไม่มีระบบไหนที่ดีที่สุด ทุกระบบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ให้สิทธิเด็กในการความเชื่อเรื่องการเมืองเอง
ถึงแม้ทางโรงเรียนจะยกเลิกการสอนเรื่องพระพุทธศาสนา แต่มีการสอนศาสนาแบบโดยรวม คือ สอนรวมทุกศาสนา เพราะ สุดท้ายแล้วสิทธิทางความเชื่อก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลเช่นกัน
ปิดท้ายด้วยเรื่องการสอนลูกเสือเนตรนารีสร้างระเบียบวินัยและการบำเพ็ญประโยชน์นั้น ปกติทางโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้ทำงานกลุ่มบ่อย ๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังให้เด็กลงพื้นที่แก้ปัญหาจริง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการแก้ปัญหา อย่างการไปช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ห่างไกลก็ทำมาแล้ว
ด้านอดีตรองอธิบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เองก็โพสต์โต้กลับ หลังนายกฯ สั่งจับตาถึงกรณีการเปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียน สาธิต มธ. ผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า ปัญหาหลักของการศึกษาของประเทศไทย คือ การเอาแต่สอนให้ท่องจำและทำตามอาจารย์สั่ง โดยไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมาก การศึกษาแบบนี้เป็น #การศึกษาแบบอำนาจนิยม ซึ่งนอกจากจะไม่อาจทำให้ประเทศไทยเกิดกำลังทางความคิดและสติปัญญา ไม่อาจพาประเทศไทยไปไหนได้ แล้วก็ยังเป็นการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยเลยครับ
เพราะ เป็นการศึกษาแบบสอนให้คนเชื่อฟังผู้มีอำนาจ แม้ว่าอำนาจนั้นจะได้มาโดยมิชอบ การปฏิวัติรัฐประหารถึงยังไม่หมดไป และประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเสียที
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำอีกว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสอนให้นักเรียนรู้จัก "คิด" และ "รับผิดชอบ" ทั้งต่อคนเอง ต่อคนอื่น และต่อส่วนรวม เป็นการศึกษาเพื่อสร้างสติปัญญา ไม่ได้สอนให้ทำตามสั่ง ไม่เหมือนกับการศึกษาแบบที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยเรียนมา
ล่าสุด ทางโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยหนังสือชี้แจง แถลงการณ์ต่อสาธารณชน เกี่ยวกับประเด็นดราม่าดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ลดทอนคุณค่าและความมุ่งมั่นอันแท้จริง ดังนี้
- โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน
- โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนฐานความรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น นอกจากวิชาสาระหลัก ยังได้จัดให้มีการสอนในวิชาต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย, วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด, วิชาวัยรุ่นศาสตร์, วิชารู้ทันการเงิน, วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสียง, วิชาผู้ประกอบการ, วิชารู้เท่าทันสื่อ และวิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง
- โรงเรียนมีเป้าหมายในการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นผู้มีจิตสำนึก รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนตระหนักดีว่า การบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป
ข้อมูล : Drama-Addict, Prinya Thaewanarumitkul และ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์