เงิน "อสม." เพิ่ม 500 เข้าวันไหน ครม. อนุมัติจ่ายค่าเสี่ยงภัย 6 เดือน จริงหรือ
เงิน "อสม." เพิ่ม 500 เข้าวันไหน ครม. อนุมัติจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้ 6 เดือน จริงหรือ เงินเพิ่มงานเพิ่มมั้ย หลายคำถามที่มีคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้ว เช็คครบจบที่นี่
เงิน "อสม." เพิ่ม 500 เข้าวันไหน กลายเป็นประเด็นร้อนโลกออนไลน์ หลังมีการเผยแพร่ข่าวสารในประเด็นเรื่อง ครม. อนุมัติจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้ อสม. เพิ่ม เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ในชุมชน วงเงินจำนวน 3,150 ล้านบาท
โดยจะนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ อสม. จำนวน 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,050,306 คน ในอัตราเดือนละ 500 บาท ต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565 เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับเดือนละ 1,000 บาท จากภาระงานปกติ
สำหรับกิจกรรมที่ "อสม." จะดำเนินการในส่วนภาระงานที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย
- เคาะประตูบ้าน แจ้งสถานการณ์โรค ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน โควิด-19 และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน
- สำรวจ และลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมายในชุมชนให้ได้รับการฉีดวัคซีน ติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงหลังฉีดวัคซีนที่บ้านในชุมชน
- ส่งต่อผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์และติดตามกลุ่มเป้าหมายจนกว่าจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2
- สำรวจ เฝ้าระวัง คัดกรองและติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
- ร่วมสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการติดตามผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน หรือเข้ารับการแยกกักในชุมชน
- ดูแลให้คำแนะนำและประเมินคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้น ทั้งสำรวจ คัดกรองความเครียด
- สำรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า และประเมินภาวะซึมเศร้า
- รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชน
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับประกอบด้วย
- ประชาชนในชุมชนได้รับการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกันโรคโควิด-19 ในชุมชน
- ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตัวถูกต้องในการป้องกันตนเองและครอบครัวจากการติดเชื้อ โควิด-19
- ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักกัน หรือแยกตัวเพื่อสังเกตอาการได้รับการดูแลที่ถูกต้องจาก "อสม."
- ลดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น
- สร้างขวัญและกำลังใจให้กับ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นแรงจูงใจที่สามารถผลักดันให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีกับประชาชน