"หมึก" สดตัวเป็น ๆ รู้หรือไม่ สัตว์กลุ่มนี้ สามารถรู้สึกเจ็บปวดได้เหมือนกัน
"หมึก" สดตัวเป็น ๆ อาหารอันโอชะของมนุษย์ รู้หรือไม่ สัตว์กลุ่มมีทั้งระบบประสาทและตัวรับรู้สัมผัส ทำให้สามารถรู้สึกเจ็บปวดได้เหมือนกัน
"หมึก" ปลาหมึก หมึกสด หลายคนก็ต่างพากันสงสัยว่าตกลงแล้วเป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่ หลังจากที่ตอนนี้ชาวเน็ตพากันพูดถึงเมนูหมึกช็อต หมึกตัวเป็น ๆ จุ่มน้ำจิ้มซีฟู้ดแล้วค่อยทานอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งมีชาวเน็ตบางส่วนมองว่าอาจจะเข้าข่ายทรมานสัตว์ก็เป็นได้ เพราะหมึกนั้นมีอาการดิ้นทุรนทุรายก่อนจะถูกคนทาน
"หมึก" ปลาหมึก หมึกสด หลังจากเมนูหมึกช็อตกลายเป็นไวรัลสนั่นโซเชียล ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่าปลาหมึกเป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกหรือไม่ งานนี้ก็ได้รับคำตอบแล้ว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลความรู้ว่า
กินหมึกช็อตนอกจากจะทรมานสัตว์แล้ว ยังเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพด้วยครับ มีคนส่งข่าวนี้มาถามกันเยอะเลย ว่าที่เขาเอาหมึกเป็น ๆ มาจิ้มลงไปในน้ำจิ้มซีฟู้ดแล้วกินสด ๆ มันเป็นการทรมาน ทารุณกรรมสัตว์ไหม คำตอบคือ เป็น ครับ หมึกสามารถรับรู้เรื่องความเจ็บปวดได้ แถมการกินดิบ ๆ แบบนี้ ยังเสี่ยงจะติดเชื้อแบคทีเรียจนเกิดอาการอาหารเป็นพิษ และอาจได้รับพยาธิตัวกลมจนปวดท้องรุนแรงได้ จึงไม่ควรทำครับ
ปลาหมึกรู้สึกเจ็บปวด หรือไม่ ?
หมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกยักษ์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่เรียกว่า เซฟฟาโลป็อด (Cephalopod) ซึ่งพวกมันเป็นสัตว์ที่มีความซับซ้อนสูง จนอาจจะเรียกได้ว่า สูงกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ สัตว์กลุ่มนี้มีคุณสมบัติหลายอย่างที่จัดได้ว่า มันสามารถจะรับรู้ความเจ็บปวดได้ ทั้งจากพฤติกรรมการตอบสนองที่มันแสดงออก และจากระบบการทำงานทางสรีรวิทยาในสมองของมัน
สัตว์กลุ่มเซฟฟาโลป็อด มีทั้งระบบประสาท (nervous system) และตัวรับรู้สัมผัส (sensory receptor) มีตัวรับสัญญาณสารกลุ่มโอปอยด์ (opioid receptor) มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาเกิดขึ้น เมื่อพบกับตัวกระตุ้นที่อันตราย (noxious stimuli) และสามารถมีการตอบสนองที่ลดลง ทั้งที่พบกับตัวกระตุ้นที่อันตรายนั้น ถ้าให้สารพวกยาระงับปวดและยาชาเฉพาะจุดแบบที่ใช้กับสัตว์มีกระดูกสันหลัง, สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองทางการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องตนเอง, แสดงออกถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ที่จะหลบหลีก และสามารถเลือกได้ที่จะหลีกหนีตัวกระตุ้นที่เป็นอันตรายหรือจะทำสิ่งอื่นทดแทน
ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการว่า สัตว์กลุ่มนี้สามารถรู้สึกเจ็บปวดได้ แต่ความรู้สึกทางอารมณ์อื่น ๆ นั้น เช่น ความกลัว ความเครียด ความกระวนกระวาย ความทุกข์นั้น ไม่สามารถบอกได้ จากการที่พวกหมึกสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ ทำให้พวกมันได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เหนือกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ เมื่อมีการนำไปทำวิจัยที่ต้องใช้สัตว์ทดลองอีกด้วย (ปรกติกฎเกณฑ์เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ทดลองนั้น จะเน้นแต่สัตว์มีกระดูกสันหลัง)
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์