เด่นโซเชียล

อ.จุฬา ไขความลับที่มา งูหินยักษ์ แห่ง "ถ้ำนาคา" ไม่ยึดติดความเชื่อท้องถิ่น

อ.จุฬา ไขความลับที่มา งูหินยักษ์ แห่ง "ถ้ำนาคา" ไม่ยึดติดความเชื่อท้องถิ่น

12 ก.พ. 2565

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยข้อมูลวิจัยจาก นักธรณีวิทยา งูหินยักษ์ "ถ้ำนาคา" คือปรากฏการณ์ sun crack หรือที่เรียกว่า รอยแตกระแหงโคลนบรรพกาล

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เพจ เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  หัวข้อ "ถ้ำนาคา" ในมุมมองนักธรณีวิทยา โดยข้อมูลทั้งหมดมีดังนี้

 

 

นักธรณีวิทยา ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลทางธรณีศาสตร์ ว่าในทางวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยาส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นและเข้าใจว่า หินที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดงูขนาดใหญ่ใน "ถ้ำนาคา" เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ซันแคร็ก” (Sun Crack)

 

ที่เกิดจากการแตกบริเวณผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นหลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุพังรวมทั้งถูกอากาศและน้ำกัดเซาะในแนวดิ่ง

 

 

 

แต่คำอธิบายของ "ถ้ำนาคา" การเกิดสภาพลักษณะทางธรณีวิทยาที่กล่าวมา ไม่สอดคล้องกับหลักฐานและข้อเท็จจริงที่พบว่า หินที่แตกเป็นก้อนคล้ายเกล็ดงูใหญ่ ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และที่สำคัญแต่ละชั้นที่แยกออกจากกันนั้นมีเอกลักษณ์และระบบแตกเฉพาะตัว สะท้อนให้เห็นว่าเป็นหินตะกอนเนื้อเม็ดประเภทหินทราย แต่ละชั้นมีขนาดเม็ดทรายต่างกัน มีองค์ประกอบแร่ต่างกัน และการเชื่อมประสานอาจแน่นไม่เท่ากันด้วย

 

 

ริ้วรอยแตกในชั้นหินแต่ละชั้นที่เห็นไม่สามารถเกิดจากแสงแดดและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบนผิวโลกในปัจจุบันแน่นอน แต่เกิดขึ้นพร้อมการสะสมตะกอนธารน้ำในแอ่งสะสมตะกอน ก่อนการแข็งตัวกลายเป็นหินตะกอนในช่วงปลายหรือหลังยุคไดโนเสาร์ หากจะเรียกว่าซันแคร็ก จะต้องเรียกว่า ซันแคร็กบรรพกาล หรือซันแคร็กดึกดำบรรพ์ จะเหมาะสมกว่า แต่ถ้าจะสื่อสารกันได้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ในวงกว้างระดับสากล ต้องเรียก ระแหงโคลนบรรพกาล หรือระแหงโคลนดึกดำบรรพ์ (paleo-mud cracks or fossil-mudcracks)

หินที่พบเป็นหินทราย หินทรายแป้ง หินโคลนและหินดินดาน มีลักษณะเป็นผาเงิบหิน เป็นซอกหลืบหิน และเป็นโพรงในชั้นหินตะกอนที่เกิดจากรอยแตก รอยแยก และอัตราการผุผังสึกกร่อนของชั้นหินเนื้อละเอียดพวกหินโคลนและหินดินดานที่เร็วกว่าชั้นหินทรายแป้งและหินทราย ซึ่งชั้นหินทั้งหมดวางตัวในแนวเอียงเทเป็นมุมต่ำ ประมาณ 20 องศา

 

 

ส่วนที่คล้ายเกล็ดงู ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง คือริ้วรอยแตกของระแหงโคลนบรรพกาล ที่เกิดพร้อมการสะสมตะกอนและการแข็งตัวเป็นชั้นหินตะกอนขนาดต่างๆ โดยหินทรายชั้นบนเนื้อจะละเอียดกว่า จึงแตกคล้ายเกล็ดงูขนาดเกล็ดเล็กกว่า เมื่อเทียบกับชั้นหินที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งเป็นหินทรายเนื้อหยาบกว่า จึงแตกเป็นเศษก้อนหินคล้ายเกล็ดงูที่มีขนาดใหญ่กว่า และเมื่อผ่านกระบวนการผุผังมานาน ขอบเดิมของเศษหินที่คล้ายเกล็ดงูที่เป็นเหลี่ยมมุมค่อยๆ มนลง

 

เป็นคำตอบว่าที่เห็นคล้ายเกล็ดงูใน "ถ้ำนาคา" นั้น คือ รอยแตกระแหงโคลนบรรพกาล และการเกิดการผุผังสึกกร่อนของหินทรายและร่องรอยแตกในอัตราที่ต่างกัน