แทบเป็นลม "กระจกแตกเอง" ทั้งที่ไม่ได้ใช้ อ.เจษฎ์ไขข้อข้องใจ "กระจกเครียด"
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เผยเหตุผล "กระจกแตกเอง" ทั้งที่ไม่ใช้ปีกว่า เกิดจากภาวะ "กระจกเครียด" แต่อย่าตื่นตระหนกเพราะไม่ได้แปลกอะไร
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับประเด็น "กระจกเครียด" โดยข้อความทั้งหมดมีดังนี้
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพกระจกขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นประตูและฉากกั้นภายในห้องน้ำ ซึ่งกั้นระหว่างโซนอาบน้ำกับโซนขับถ่าย "กระจกแตกเอง" ทั้งบาน โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร เนื่องจากไม่ค่อยได้ใช้ห้องน้ำห้องนี้ด้วย
โดยเล่าว่า หัวใจจะวายค่ะ กระจกระเบิดเองตอนตี 1 ห้องน้ำห้องนี้อยู่ห้องนอนรับแขก ไม่มีคนใช้มาปีกว่าแล้ว ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร โดยบ้านหลังนี้สร้างมา 6 ปี กลัวเลยค่ะ เพราะห้องน้ำห้องอื่น ๆ ในบ้านก็มีกระจกกั้นแบบนี้ ที่สำคัญคือ มีเด็กเล็กอยู่ในบ้านด้วย
ต่อมาได้เรียกให้ช่างมาดู ช่างบอกว่าเกิดจากตรงบานพับกระจก ซึ่งบานพับห้องนี้ไม่มีแผ่นยางรอง ช่างที่ติดตั้งคงสะเพร่า พอเหลือแต่เหล็กหนีบกับกระจก นานไปก็ทำให้แตกได้ ส่วนพวกชุดบานพับ พอใช้งานไปนาน ๆ น็อตจะคลายตัว ต้องหมั่นเช็คบ้าง ซึ่งได้ให้ช่างขันบานพับห้องอื่น ๆ ให้แน่นหมดแล้ว
ปรากฏการณ์ที่อยู่ ๆ "กระจกแตกเอง" แม้จะเป็นเรื่องแปลก แต่ก็ไม่ได้ประหลาดพิสดารอะไร มีคนเจอกันอยู่เรื่อย ๆ ส่วนมากเรียก "กระจกเครียด" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระจกโต๊ะกินข้าวแตก ไปจนถึงกระจกในห้องน้ำ หรือแม้แต่กระจกหน้าต่าง-ประตูบ้าน
กระจกพวกนี้เรียกว่า เทมเปอร์กลาส (Tempered glass) เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะเป็นชิ้นเล็ก ๆ เหมือนเมล็ดข้าวโพด ไม่ค่อยมีความคม ทำให้ไม่บาดคนที่อยู่ใกล้
ปรากฏการณ์กระจกแตกเอง หรือมีศัพท์เรียกว่า Spontaneous glass breakage มักจะเกิดกับกระจกแบบ Tempered glass ซึ่งถูกเสริมความแข็งแรงของเนื้อกระจกเพื่อใช้เป็นกระจกรถยนต์ ประตู หน้าต่างบ้านเรือน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์
ส่วนสาเหตุที่ "กระจกแตกเอง" ได้แก่
- มีความเสียหายเล็กน้อยเกิดขึ้นระหว่างติดตั้ง เช่น มีขอบที่บิ่นแตก ต่อมาพัฒนาเป็นรอยแตกขนาดใหญ่ขึ้น ให้สังเกตเห็นเป็นวงรัศมีออกจากจุดที่กระจกเริ่มมีร้าว
- การใส่กระจกลงไปในกรอบ ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นในเนื้อกระจก เนื่องจากกรอบกระจกไปบีบเนื้อกระจกที่มีการหดและขยายอยู่เรื่อย ๆ ตามสภาพของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป หรือตามความแรงของกระแสลม
- ความผิดปกติภายในเนื้อกระจกเอง เช่น เกิดการรวมตัวของสารนิกเกิลซัลไฟด์ในเนื้อกระจก
- ความเครียดของเนื้อกระจกที่เกิดจากความร้อน
- ความหนาของกระจกไม่เพียงพอที่จะต้านทานต่อแรงลมที่มาปะทะ
สำหรับแนวทางป้องกัน "กระจกเครียด" คงต้องดูทั้งหมด ตั้งแต่การติดตั้ง การใช้งาน รวมถึงรอยร้าวที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่เป็นกระจกประตู หน้าต่างบ้าน และรถยนต์ สามารถหาฟิล์มนิรภัยมาติดเพิ่มเติมได้ เพื่อให้เศษกระจกที่แตกไม่หล่นออกไปเป็นอันตรายกับผู้ใด