"โควิด" ติดเชื้อพุ่ง เช็คด่วน เตียงว่าง ยังเหลือมั้ย ทั่วประเทศ กทม. ปริมณฑล
"โควิด" ติดเชื้อพุ่ง ระบบสาธารณสุข เตียงว่าง ยังเหลือรองรับผู้ป่วยมั้ย เช็คด่วน ข้อมูลเตียง ทั่วประเทศ กทม. ปริมณฑล
"โควิด" ติดเชื้อพุ่ง เช็คด่วน เตียงว่าง ยังเหลือมั้ย ล่าสุด นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีข้อกังวลว่า ระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะความเพียงพอของจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วย โควิด-19
กรมการแพทย์ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการบริหารจัดการเตียงร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลภาคีเครือข่าย UHosNeT กรุงเทพมหานคร กลาโหม โรงพยาบาลเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มปฏิบัติการด้านการจัดการเตียงและรักษาพยาบาล UHOSNET BKK กรมการแพทย์ ทุกสัปดาห์ เพื่อ UPDATE สถานการณ์ภาพรวม โควิด-19 ประเมินสถานการณ์และศักยภาพเตียงรองรับผู้ป่วย โควิค-19 ในโรงพยาบาล Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ทุกระดับในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งภาพรวมของประเทศด้วย
"ขณะนี้ ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ส่วนใหญ่จะเป็น เด็ก วัยทำงาน โดยมากกว่า 90% จะอาการเล็กน้อย และมากกว่า 50% ไม่มีอาการ แต่กลุ่มที่เสียชีวิต อาการหนัก ยังเป็นกลุ่มสูงวัย กลุ่มเปราะบาง มีโรคเรื้อรัง ติดบ้านติดเตียง ที่รับเชื้อจากคนใกล้ชิด ทั่วประเทศมีเตียงรักษาโควิดประมาณ 1.8 แสนเตียง อัตราครองเตียงประมาณ 60%"
นายแพทย์ ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การระบาด "โควิด" อยู่ในช่วงขาขึ้น แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว ดังนั้น ยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนัก อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจการเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลหลังติดเชื้อ โดยผู้ที่มีอาการหรือเป็นโรคอื่นแล้วไปตรวจที่โรงพยาบาลและพบผลบวก จะจัดระบบเข้ารักษาที่บ้าน (HI) หรือโรงพยาบาลตามระดับอาการ กรณีตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วผลบวก ยืนยันว่าไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ให้โทรสายด่วน 1330 เข้าระบบได้เลย หากไม่มีอาการจะจัดเข้า HI ก่อน หากทำไม่ได้จะจัดเข้าสู่ศูนย์พักคอย (CI) แต่หากมีอาการหนักมากขึ้นโรงพยาบาลที่ดูแลจะส่งไปศูนย์จัดหาเตียงและเข้าโรงพยาบาลหลักต่อไป หรือ โทร. ประสาน 1669 หากมีอาการฉุกเฉิน
สำหรับข้อมูลเตียง ทั่วประเทศ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565)
- เตียงผู้ป่วยน้อยระดับ 1 ทั้งหมด 142,044 เตียง ครองเตียง 89,141 เตียง อัตราครองเตียง 62.8%
- ป่วยหนัก ระดับ 2.1 ทั้งหมด 24,456 เตียง ครองเตียง 5,104 เตียง อัตราครองเตียง 20.9%
- ระดับ 2.2 ทั้งหมด 5,633 เตียง ครองเตียง 703 เตียง อัตราครองเตียง 12.5%
- ระดับ 3 ทั้งหมด 2,158 เตียง ครองเตียง 419 เตียง อัตราครองเตียง 19.4%
- ภาพรวม 174,291 เตียง ครองเตียง 95,367 เตียง อัตราครองเตียง 54.7%
- ส่วนผู้ดูแลที่บ้าน (HI) 69,278 ราย และในชุมชน (CI) 24,369 ราย
กทม. ปริมณฑล ซึ่งมีผู้ป่วยสูงมากกว่า 3 พันรายต่อวัน มีความร่วมมือในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น เอกชน โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม และ กทม. รวมแล้วมีเตียงรองรับทั้งหมด 69,682 เตียง คนไข้เข้าไปนอน ใน รพ. 36,454 เตียง
- อัตราครองเตียง 52.31%
- เตียงว่าง 47.69%