"ตรวจโควิด" แบบน้ำลายแต่ขึ้นขีดเดียว ทั้งที่เป็น อ.เจษฎ์ แนะวิธีนี้แม่นยำ
"ตรวจโควิด" แบบน้ำลาย แต่ขึ้นขีดเดียว ทั้งที่เป็น "อ.เจษฎ์" เผยแล้วเพราะอะไร พร้อมแนะนำใช้วิธีนี้ ได้ผลแม่นยำ
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ให้ข้อมูลเรื่องการ "ตรวจโควิด" ซึ่งมีหลายคนเริ่มมีคำถาม สำหรับชุดตรวจโควิดแบบบ้วนน้ำลาย แล้วไม่มั่นใจในผลตรวจ "อ.เจษฎ์" ระบุว่า ถ้าใช้ชุดตรวจโควิดแบบบ้วนน้ำลาย แล้วไม่มั่นใจผล ลองมาใช้วิธี แยงคอ (ต่อมทอนซิล)+แยงจมูก อย่างที่ผมเคยแนะนำ ได้นะครับ
คือช่วงหลังนี้ มีหลายคนมากที่ถามเข้ามา ว่า "ตรวจโควิด" ATK แบบบ้วนน้ำลาย มันแม่นจริงหรือเปล่า ? ทำไมได้ผลเป็นลบ แต่พอไปตรวจแบบแยงจมูก แล้วได้ผลเป็นบวก !? ก็ต้องบอกว่า ตามหลักแล้ว ชุดตรวจ ATK ทุกยี่ห้อทุกรุ่นที่ผ่านการรับรองของ อย. แล้วเนี่ย ต้องถือว่าได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้ตรวจหาการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบแยงโพรงจมูก หรือแบบบ้วนน้ำลาย
ประเด็นคือ ถ้าเรื่อง "ความแม่นยำ" (การบอกได้ว่าเชื้อที่ติดนั้นเป็นไวรัสโควิดจริง) ชุดตรวจทั้งสองแบบควรจะมีความแม่นยำพอ ๆ กัน คือต่ำกว่าแบบ PCR นิดเดียว (จริง ๆ ถ้าเป็นยี่ห้อเดียวกันนี่ เค้าใช้กลักตรวจ ใช้น้ำยา เหมือนกันแหละครับ แม้ว่าจะเก็บตัวอย่างต่างกัน) แต่ถ้าเป็นเรื่อง "ความไว" (ปริมาณเชื้อน้อยสุดที่ตรวจได้) ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า แบบบ้วนน้ำลาย น่าจะมีความไวน้อยกว่าแบบแยงจมูก สาเหตุเพราะว่าเราต้องมีปริมาณเชื้ออยู่ในน้ำลายเยอะพอถึงจะตรวจได้ และมักจะเป็นวันที่เชื้อเริ่มแบ่งตัวในเซลล์ของร่างกายมากขึ้นแล้ว จนมัน shred ตัวเองออกจากเซลล์มาในอยู่สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกน้ำลาย มาก ๆ ขณะที่ถ้าเราใช้ไม้แยงจมูก ที่ปลายขน ๆ ของมันจะเก็บเอาทั้งตัวอย่างเซลล์และสารคัดหลั่งออกมาด้วย จะทำให้โอกาสตรวจเจอเชื้อสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" หรือ "โอไมครอน" นั้น เราพบว่าเชื้อมันแพร่และแบ่งตัวในเซลล์บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนได้ค่อนข้างดี จึงมีรายงานว่า การตรวจหาเชื้อทั้งจาก "โพรงจมูก และ ลำคอ" จะช่วยให้ตรวจเจอเชื้อได้ดีขึ้น กว่าการตรวจในโพรงจมูกอย่างเดียว
ซึ่งวิธีการทำนั้น ผมเคยทำคลิปสาธิตการใช้ชุดตรวจ ATK เก็บตัวอย่างจากทั้ง "ต่อมทอนซิลและโพรงจมูก" ไว้ให้ดูนะครับ คลิกดูคลิป
ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นวิธีมาตรฐานในประเทศอังกฤษ หลายชาติยุโรป และออสเตรเลีย แต่บ้านเราไม่นิยม เพราะมักจะยึดติดว่าให้ทำตามคู่มือแนะนำเท่านั้น
คำแนะนำเพิ่มเติม
- เวลาเก็บตัวอย่าง ให้ใช้ไม้สวอป มาป้ายเก็บตามต่อมทอนซิล (อยู่สองข้างของลิ้นไก่) ก่อน แล้วเอาอันเดียวกันนั้นมาแหย่เช็ดๆ วนๆ จมูกทั้ง 2 ขัางตาม โดยทำเบาๆ พอ ลึกประมาณ 1 นิ้ว ไม่ต้องแยงลึกถึงด้านหลังโพรงจมูก ให้เจ็บตัวเปล่าๆ
- เวลาเก็บตัวอย่างจากช่องปาก ควรงดน้ำ-อาหารก่อนตรวจ 30 นาที และป้ายเช็ดเบาๆ พอ อย่าไปขูดโดนเนื้อเยื่ออ่อน ๆ ในปาก บาดเจ็บได้
- ถ้าใช้ชุดตรวจน้ำลาย ต้องขากน้ำลายแรงๆ และไม่ควรบ้วนปากหรือดื่มน้ำก่อนตรวจ
- สารคัดหลั่งที่เหนียวไป เช่น ขี้มูก เสลด ไม่ควรเอามาตรวจหาเชื้อ เพราะจะไปขัดขวางการเคลื่อนที่ของน้ำยาในตลับตรวจ