
ถูกนายจ้างเปลี่ยน "ค่าล่วงเวลา" จาก "โอที" เป็นวันหยุด ทำได้ไหมกฎหมายชัด
ทำ "โอที" เเต่ถูกนายจ้างเปลี่ยน "ค่าล่วงเวลา" เป็นวันหยุด ทำได้หรือไม่ กฎหมายเขียนชัด สิทธิที่ลูกจ้างและนายจ้างต้องรู้
"ทำล่วงเวลา" ต้องได้เงิน เพราะมีกฎหมายเขียนชัด โดย เพจเฟซบุ๊ก กฎหมายเเรงงาน รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ ได้อธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับ "โอที" OT หรือ Over time ซึ่งก็คือ time ที่มันโอเวอร์ หรือเกินจาก ๘ ชั่วโมง อันเป็นเวลาทำงานปกติที่กฎหมายให้ทำงานได้ไม่เกินนี้
การทำงานเกิน หรือล่วงเวลาจากจำนวน ๘ ชั่วโมง เงินที่จ่ายจะเรียกว่า "ค่าล่วงเวลา"
ซึ่งบทนิยามในมาตรา ๕ ของกฎหมายเขียนชัดว่า "ค่าล่วงเวลา" ต้องจ่ายเป็น "เงิน" การให้ไปแลกหยุดวันอื่นแทน หรือสะสมไปหยุดไม่สามารถทำได้ เพราะมันไม่ใช่ "เงิน"
หากนายจ้างไม่ปฎิบัติตามที่กฎหมายเขียนไว้ ผลที่ตามมาคือลูกจ้างอาจเรียกค่าล่วงเวลาย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยได้
อนึ่ง หลักการนี้ใช้รวมถึงกรณีค่าทำงานในวันหยุดด้วย ที่ต้องจ่ายเป็นเงิน จะให้มาทำงานแล้วไปแลกหยุดวันอื่นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การที่นายจ้างจะสลับวันทำงานก็ควรเขียนเป็นสภาพการจ้าง (ข้อตกลง) ให้ชัดแจ้งว่าจะเป็นการสลับวัน/เวลาทำงาน ซึ่งสามารถทำได้แต่ต้องไม่ขัดกับที่กฎหมายเขียนไว้
ส่วนกรณีทำ OT มาโดนหักโน่น หักนี่หมด มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้หักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
แต่ก็มีข้อยกเว้นให้หักได้ เช่น ค่าภาษี เงินบำรุงสหภาพ ชำระหนี้สหกรณ์ เงินประกัน เงินชดใช้ค่าเสียหาย เงินสะสมกองทุน
หากนายจ้างฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ลูกจ้างอาจเรียกค่าจ้างส่วนที่หักไปได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี (และควรเรียกเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ทุก ๆ ๗ วันด้วย)
โดยกรณีนี้ลูกจ้างสามารถร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและฟ้องต่อศาลแรงงานได้
อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างเห็นว่าไปฟ้องหรือร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะกลับมาทำงานร่วมกันไม่ได้ หรือกลัวจะถูกเลิกจ้างก็สามารถร้องเรียนแบบไม่เปิดเผยชื่อ หรือรอให้ออกจากงานก่อนแล้วค่อยไปฟ้อง หรือร้องต่อพนักงานฯ แต่ทั้งนี้ต้องระวังเรื่องอายุความด้วย