เด่นโซเชียล

โซเชียลฮือฮา รอยเล็บ "พระจันทร์เสี้ยว" บนนิ้วบอกสุขภาพ หมอยันข่าวปลอม

โซเชียลฮือฮา รอยเล็บ "พระจันทร์เสี้ยว" บนนิ้วบอกสุขภาพ หมอยันข่าวปลอม

01 พ.ค. 2565

โลกโซเชียลแห่แชร์ ลักษณะรอย "พระจันทร์เสี้ยว" ในเล็บมือสามารถบอกโรคได้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ตามที่มีการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องลักษณะพระจันทร์เสี้ยวในเล็บมือสามารถบอกโรคได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

 

จากที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยในโพสต์ระบุว่าโรคของคนมีเล็บ "พระจันทร์เสี้ยว" ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การที่มีลักษณะเป็นรอยขาวพระจันทร์เสี้ยว เป็นสิ่งที่พบเป็นปกติของเล็บนิ้วมือ ซึ่งเป็นส่วนของ distal part ของ nail matrix ที่เป็นส่วนในการสร้างเล็บ ถ้าบางคนมีส่วนนี้ใหญ่ อาจจะยื่นพ้นโคนเล็บออกมาทำให้เห็นเป็นสีขาว

 

 

ในกรณีที่เป็นโรคไตวาย โรคตับแข็ง โรคหัวใจวาย อาจจะพบว่ามีเล็บขาวเป็นบางส่วนได้แต่ไม่ใช่ลักษณะ "พระจันทร์เสี้ยว" แบบนี้ ส่วนเล็บที่มีสุขภาพดี คือเล็บที่มีสีออกชมพูจาง ๆ จากสีผิวของเนื้อข้างใต้เล็บ มีพื้นผิวเรียบ ผิวหนังรอบเล็บมีความแข็งแรง และเล็บมีความหนาไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป แต่ถ้าเล็บมีความแตกต่างไปจากนี้ถือว่าเป็นเล็บที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกโรคได้ คือ เล็บที่มีความหนาหรือบางผิดปกติ เล็บเปลี่ยนสี ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง ปลายเล็บร่น และเล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ 

สำหรับความผิดปกติของเล็บมีรายละเอียดดังนี้

1. เล็บที่มีความหนาหรือบางผิดปกติ มีหลายโรคที่ทำให้เล็บหนาขึ้น เช่น โรคเชื้อรา ที่นอกจากเล็บจะหนาขึ้นแล้ว อาจมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจขรุขระ โรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลาย ๆ เล็บ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน

 

2. เล็บเปลี่ยนสี เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง เล็บที่มีสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บพบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและโรคหัวใจวาย เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ

 

3. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง คนที่สัมผัสกับน้ำบ่อย ๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย หรือเกิดการระคายเคืองจากสารเคมี เช่น น้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาด บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราเนื่องจากไม่รักษาความสะอาด ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง รอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย

 

4. ปลายเล็บร่น ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงปลายเล็บร่นจากการใช้ยาบางชนิดและการบาดเจ็บ เช่น การกระแทก อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลง

 

5. เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็ก ๆ ถ้าเป็นหลายเล็บอาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงินหรือโรคภูมิแพ้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่มีการสร้างเล็บผิดปกติ

 

 

อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอหากมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง การดูแลรักษาเล็บให้มีสุขภาพดีนั้นควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเล็บโดยเมื่อตัดเล็บไม่แคะซอกเล็บมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เล็บฉีกขาด เกิดแผลทำให้เชื้อโรคเข้าได้ ควรสวมถุงมือขณะทำงานบ้าน หรือเมื่อต้องใช้สารเคมี นอกจากนั้นควรหมั่นทาโลชั่นเพื่อถนอมผิวที่มือและเล็บเป็นประจำ จะช่วยให้เล็บแข็งแรง เงางาม เรียบเนียน มีสุขภาพ เล็บที่ดี