"บัตรทองหาย" ต้องทำอย่างไร เข้ารักษาเจ็บป่วยได้หรือไม่มีคำตอบ
"บัตรทองหาย" ต้องทำอย่างไร สามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลได้หรือไม่ พร้อมบอกวิธีสมัคร และขอบัตรทองใหม่ปี 2565 เช็ครายละเอียดที่นี่
เชื่อว่าหลายคนกำลังกังวลกันอยู่ไม่น้อยในกรณีที่ "บัตรทองหาย" แต่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล บางคนพอบัตรหายก็เลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษา เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถใช้สิทธิรักษาฟรีได้ อีกทั้งยังไม่ทราบ "บัตรทองหายทำอย่างไร" โดยล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้เปิดเผยแนวทางสำหรับเข้ารับการรักษากรณี ทำ "บัตรทองหาย" ว่าประชาชนจะต้องทำอย่างไรบ้าง
หากมีอาการป่วย จะไปใช้สิทธิบัตรทอง แต่ทำ "บัตรทองหาย" ประชาชนยังสามารถเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลตามสิทธิได้ตามปกติ โดย ปัจจุบันมีนโยบายใช้บัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นเด็กใช้สูติบัตร แทนบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ทุกแห่ง เช่นโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ
"บัตรทองหาย" สามารถติดต่อขอทำบัตรใหม่ ได้ดังนี้
ปัจจุบันนี้สามารถเลือกเดินทางไปทำบัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ที่สถานที่สำนักงานตามที่กำหนด หรือผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน สปสช ดังนี้
1.สมัครด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานเขต กทม. (19 เขต)/ สปสช. เขตพื้นที่ 1-13/ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/ โรงพยาบาลของรัฐ ตรวจสอบสถานพยาบาลบัตรทองใกล้บ้าน คลิกที่นี่
2.โทรสายด่วน สปสช. 1330 จากนั้นกด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย #
3.ติดต่อผ่าน Application สปสช. สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ iOS
4.ติดต่อผ่าน LINE Official Account สปสช. ค้นหา Line ID @nhso หรือคลิกที่นี่
5.ติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เข้าเมนูประชาชน เลือกหัวข้อ ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ คลิกที่นี่
นอกจากนี้ "บัตรทอง" เพิ่มบริการใหม่ 4 บริการ ดังนี้
1.เจ็บป่วยรักษากับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิไหนก็ได้ นำร่องใน จ.ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี และ กทม.
2.โรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ ดำเนินการทั่วประเทศ
3.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน ดำเนินการทั่วประเทศ
4.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องใน จ.นครราชสีมา และ กทม.
พร้อมตั้งเป้าปี 2565 จะขยายบริการให้ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวได้ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและญาติ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องเข้ารับบริการจากหน่วยบริการอื่น