ไขข้อสงสัย "ฝีดาษลิง" ยุคปลาย "โควิด" 7 ข้อ และสถานการณ์การเเพร่ระบาด
หมอธีระวัฒน์ อธิบายความแปลก "ฝีดาษลิง" ยุคปลาย "โควิด" สามารถป้องกันตัวได้โดยใส่หน้ากาก ล้างมือ กักตัว เหมือนโควิด สามารถระงับจำกัดการแพร่เชื้อได้เร็ว เพราะเชื้อจะแพร่ต่อเมื่อมีอาการ
"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงความแปลกของฝีดาษลิงในยุคปลายโควิดว่า
1. น่าจะเป็นครั้งแรกที่ โรคฝีดาษลิง หลุดออกจากทวีปแอฟริกา (Benin, Cameroon, the Central African Republic, the Democratic Republic of the Congo, Gabon, Ghana (identified in animals only), Ivory Coast, Liberia, Nigeria, the Republic of the Congo, Sierra Leone, and South Sudan) และกระจายไปอยู่ในหลายประเทศที่ไม่ได้เป็นถิ่นฐานต้นกำเนิดในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นการติดต่อเระหว่างคนในชุมชนเองแล้ว
2. เหตุการณ์ในลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นในปี 2018 และ 2019 พบคนที่ติดเชื้อฝีดาษลิง จากไนจีเรียที่เดินทางไปประเทศอังกฤษ และสิงคโปร์ แต่ไม่ได้กระจายไปทั่วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
3. ขณะนี้ ยังไม่ทราบชัดเจนว่าการระบาดของ ฝีดาษลิง เกิดจากการผันตัวของไวรัส หรือเกิดขึ้นจากปัจจัยของมนุษย์ ลักษณะของไวรัส ที่พบในปี 2022 ยังตกอยู่ในกลุ่มก้อน ที่ใกล้ชิดกับไวรัสในแอฟริกาตะวันตก (West African clade) และไวรัสที่พบในประเทศโปรตุเกสใน 2022 ยังอยู่ในลักษณะที่ใกล้กัน กับไวรัสในปี 2018 และ 2019 และยังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นปัจจัยของไวรัส
ส่วนปัจจัยของมนุษย์ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ทำไมจึงเอื้อกับการกระจายไปได้มากกว่า 10 ประเทศ ในเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา แม้ว่าความสามารถในการแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการแพร่โดยการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างคนสู่คน การกระจายทางฝอยละอองน้ำลาย ไอจาม ทางเพศสัมพันธ์ (จากเพศเดียวกัน และต่างเพศ) และการสัมผัสกับเชื้อที่ผื่นแผลผิวหนังของคนป่วย และเชื้อที่เกาะติดอยู่กับเสื้อผ้า เครื่องใช้ของคนติดเชื้อ และการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยที่ต้นตอคือลิง และติดต่อมายังสัตว์ฟันแทะ เช่นหนู กระรอกกระแต และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันในพื้นที่นอกบริเวณต้นตอ จะเป็นการแพร่จากคนสู่คนมากกว่า
4. ข้อดีที่ ฝีดาษลิง สามารถระงับจำกัดการแพร่ได้ค่อนข้างเร็ว เชื้อจะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว (ระยะฟักตัวอยู่ในระหว่างหนึ่งถึงสองอาทิตย์นานได้ถึงสามอาทิตย์) ดังนั้นคนที่ติดเชื้อจะรู้ตัว และคนรอบข้างจะสามารถสังเกตได้ จากอาการไม่สบายของคนติดเชื้อที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรง จากไข้ ปวดกล้ามเนื้อปวดหัว ปวดหลัง พร้อมกับมีต่อมน้ำเหลืองโต และเกิดผื่นตุ่มหนองตามผิวหนังที่หน้าแขนมือและลำตัวเป็นที่สังเกตได้ง่าย
5. แม้ว่าระยะเวลาของโรค กว่าที่จะหายนานถึงประมาณสองถึงสี่อาทิตย์ แต่อัตราเสียชีวิตยังถือว่าต่ำมากคือ <1% ในประเทศที่มีการดูแลทางการแพทย์ดีในปัจจุบัน
6. คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปในประเทศไทย และเคยได้รับ วัคซีนฝีดาษไข้ทรพิษ (น่าจะจำได้ ว่าจะมีการขุดเป็นแผลถลอกที่ผิวหนังที่ต้นแขน และหยดวัคซีนลงไป โดยอาจจะยังพอมองเห็นแผลเป็นจางๆ อยู่) อาจจะยังมีภูมิป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นไป ภูมิจะหายไปหรือไม่ (ประเทศไทยหยุดการให้วัคซีนไข้ทรพิษในปี 2523)
ทั้งนี้ วัคซีนที่มีการพัฒนาใหม่ (MVA-BN) และยาที่มีในปัจจุบัน ที่ได้รับการรับรองในปี 2019 และ 2022 ตามลำดับ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยาที่ใช้เป็นเพียงเพื่อระงับการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น
ส่วนวัคซีนฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ที่เคยใช้ในสมัยก่อนอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือก เนื่องจาก ถ้ามีการแพ้จะเกิดมีสมองอักเสบ และอัตราเสียชีวิตจากการแพ้สูงถึง 50%
ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบัน อาจยังไม่สามารถระบุได้ว่า จำเป็นต้องมีการใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไปหรือไม่ เนื่องจากการกระจายของเชื้อยังเป็นกระจุกเท่านั้น
7. ข้อดีของการที่มีโควิด ก็คือ การป้องกันตัวจะเป็นในลักษณะเหมือนกันทุกประการ ไม่ว่าการใส่หน้ากากล้างมือ ไม่สบายกักตัวแยกห่างสถานการณ์ ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และตอกย้ำความสำคัญที่ต้องไม่ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ การรุกล้ำป่า ล่าสัตว์ป่า และความสำคัญที่ต้องมีระบบในการเฝ้าติดตามโรค ที่เกิดขึ้นในมนุษย์โดยรวดเร็วที่สุด เพื่อการควบคุมรักษาและป้องกันได้ทันท่วงที
ศ.นพ.ธีระ ระบุด้วยว่า ฝีดาษลิง (วานร) ไวรัสแพร่ออกเมื่อเริ่มมีอาการไม่สบายแล้ว ดังนั้นถ้าคนไม่สบายแล้ว และยังคลุกคลีสัมผัสกับคนอื่นมากเท่าใด ก็มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากเท่านั้น และคนที่ติดเชื้อระลอก 2 จะปรากฏอาการภายใน1 ถึง 2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์ ทำให้โรคแพร่กระจายออกไปได้กว้างยิ่งขี้น การติดเชื้อในประเทศอังกฤษคล้ายเป็นการแพร่ในชุมชน โดยที่รายต่อมา ไม่ได้สัมผัสกับรายแรกและไม่ได้กลับจากพื้นที่ต้นตอ
แต่ข้อดีของไวรัสตัวนี้ก็คือ ความสามารถในการแพร่ติดต่อยังอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่คลุกคลีจะติดทุกคน แต่ต้องกักตัว 21 วัน เมื่อทราบว่าได้สัมผัส ในปี 2020 องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่ามีผู้ที่น่าจะติดเชื้อฝีดาษลิง 4594 รายและเสียชีวิต 171 ราย (case fatality ratio 3.7%) แต่ทั้งนี้ไม่ได้รับการยืนยันด้วยการตรวจพีซีอาร์