เด่นโซเชียล

คลายสงสัย ไทยมีหลุมขุดเจาะ "น้ำมัน" เยอะ แต่ ราคาแพง กว่าส่งออก จริงหรือไม่

คลายสงสัย ไทยมีหลุมขุดเจาะ "น้ำมัน" เยอะ แต่ ราคาแพง กว่าส่งออก จริงหรือไม่

01 มิ.ย. 2565

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้เเจงข้อสงสัย ไทยมีหลุมขุดเจาะ "น้ำมัน" เยอะ แต่น้ำมันที่ใช้ ราคาแพง กว่าส่งออก จริงหรือไม่

จากกรณีมีการเผยเเพร่ข้อมูลเรื่องไทยมีหลุมขุดเจาะ "น้ำมัน" และปิโตรเลียมจำนวนมาก แต่ ราคาแพงกว่าส่งออกนั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ

 

โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่า จำนวนหลุมผลิตมาก ไม่ได้หมายความว่าจะมีปริมาณปิโตรเลียมมากตามจำนวนหลุม เพราะประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กเป็นกระเปาะ โครงสร้างทางธรณีวิทยาไม่ต่อเนื่อง 
 

หลุม ๆ หนึ่งผลิตปิโตรเลียมได้ไม่มากไม่เหมือนกับแหล่งใหญ่ที่ไม่ต้องใช้หลุมผลิตจำนวนมากก็ผลิตได้มาก และโดยส่วนใหญ่เป็นหลุมที่ผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย ซึ่ง ณ เดือน มี.ค. 65 มีหลุมที่ผลิตอยู่ 1,757 จากจำนวนหลุมทั้งหมด 5,535 หลุม ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตก๊าซธรรมชาติ (อัตราการผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และจำนวนหลุมผลิต สามารถดูข้อมูลได้ในเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในรายงานการผลิตรายเดือน)

 

ข้อมูลการผลิตปิโตรเลียมทั้งประเทศ ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว) และน้ำมันดิบ ทั้งบนบกและในทะเล ในปี 2564 ประกอบด้วย 

 1. ก๊าซธรรมชาติ 27,654,777,386 ลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ (997,383.25 ล้านลูกบาศก์ฟุต)
 2. คอนเดนเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว) 4,202,993,890.88 ลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ (29,063,418 บาร์เรล)
 3. น้ำมันดิบ 5,534,121,292.33 ลิตร (34,808,640 บาร์เรล)

รวม 37,391.89 ล้านลิตรเทียบเท่าน้ำมันดิบ 

กรณีมีการระบุว่า ใช้น้ำมันที่ขุดได้ในประเทศในราคาแพงกว่าที่ส่งออกนั้น ต้องแยกเป็นการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยการส่งออกน้ำมันดิบนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีแนวทางปฏิบัติกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขายภายในประเทศก่อน หากไม่สามารถขายได้จึงส่งออกไปขายยังต่างประเทศ และมีเงื่อนไขว่าต้องส่งออกปิโตรเลียมในราคาสูงกว่าที่ขายในตลาดภายในประเทศ ซึ่งนับเป็นผลดีต่อประเทศเพราะทำให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออก 

 

รัฐบาลสามารถเก็บค่าภาคหลวงและภาษีได้สูงกว่าการที่ผู้ประกอบการจะขายภายในประเทศ เพราะในเมื่อน้ำมันดิบมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โรงกลั่นต้องการ โรงกลั่นก็จะรับซื้อในราคาถูกซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้น้อยลง โดยการส่งออกน้ำมันดิบนี้ มีกฎหมายกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด รอบคอบ และรัดกุม จะส่งออกในราคาที่แพงกว่าขายในประเทศ

 

สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสำเร็จรูปนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันหน้าปั๊มในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันไป

 

โดยประเทศไทยนั้นโครงสร้างราคาน้ำมันประกอบไปด้วย

1. ราคาหน้าโรงกลั่น จะอ้างอิงกับราคาตลาดโลก
2. ภาษีสรรพสามิต มีชื่อเล่นว่าภาษีน้ำมัน ถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่ในปัจจุบันของรัฐบาลไทย
3. ภาษีท้องถิ่น เงินทำนุบำรุงท้องที่
4. เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เหมือนการหยอดกระปุกเก็บไว้ในวันที่น้ำมันราคาถูก แต่จะหยิบออกมาใช้ในวันที่น้ำมันราคาแพง เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางราคาของน้ำมัน
5. เงินอุดหนุนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 
7. ค่าการตลาด แม้จะใช้ชื่อว่าค่าการตลาด แต่ความจริงแล้วรวมเอาค่าใช้จ่ายทุกสิ่งอย่างตั้งแต่การจัดการคลัง การขนส่ง และค่าบริการ รวมทั้งผลกำไรของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเอาไว้เรียบร้อย


ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำมันจะไม่ได้รวมภาษีน้ำมันต่าง ๆ ไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนตามโครงสร้างราคาน้ำมันภายในประเทศ ราคาส่งออกจึงถูกกว่า 


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จำนวนหลุมผลิตมาก ไม่ได้หมายความว่าจะมีปริมาณปิโตรเลียมมากตามจำนวนหลุม และเมื่อน้ำมันดิบมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โรงกลั่นต้องการ ก็จะถูกรับซื้อในราคาถูก ซึ่งการส่งออกน้ำมันดิบ มีกฎหมายกำกับดูแลอย่างรอบคอบ จะส่งออกในราคาที่แพงกว่าการขายในประเทศ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสำเร็จรูปนั้น เนื่องจากราคาน้ำมันหน้าปั๊มในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันไป
ไทยมีหลุมขุดเจาะ "น้ำมัน" เยอะ แต่ราคายังแพงกว่าส่งออก จริงหรือไม่